ขยายเวลาการดำเนินโครงการเงินกู้ฯ - มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ถึงสิ้นเดือนกันยายน 2562
  • 23 กุมภาพันธ์ 2019 at 13:16
  • 979
  • 0

มาตรการขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการต่างๆ ของภาครัฐล้วนมีเหตุผลปัจจัยรองรับ ตั้งแต่เรื่องเหตุขัดข้องจากภัยธรรมชาติ  (น้ำท่วม)  เหตุขัดข้องจากการปรับเปลี่ยนขอบเขตดำเนินงาน หรือเหตุขัดข้องเนื่องจากมีปัญหาของภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นเหตุขัดข้องจริง  ทำให้การเริ่มต้นทำงานจริงล่าช้า การขยายระยะเวลาดำเนินการจึงจำเป็น  และ “เป็นธรรม”  ต่อคู่สัญญา

 

ขยายเวลาให้โครงการในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2

มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562  เรื่อง ผลการดำเนินงานและการขอขยายระยะเวลาดำเนินโครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน  ระยะเร่งด่วน : มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2

คณะรัฐมนตรีมีมติดังนี้

1. รับทราบ อนุมัติ และเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้

1.1 รับทราบสถานะ การดำเนินโครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน : มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (โครงการเงินกู้ฯ) การติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน  และอนุมัติขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการเงินกู้ฯ และการเบิกจ่ายเงินกู้จนถึงเดือนกันยายน 2562 ทั้งนี้ หากหน่วยงานเจ้าของโครงการใดไม่สามารถดำเนินการและเบิกจ่ายได้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2562 เห็นควรให้ใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีของหน่วยงานเจ้าของโครงการหรือจากแหล่งอื่น  เพื่อดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จต่อไปตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561

1.2 อนุมัติยกเลิกโครงการและยกเลิกการใช้เงินกู้ของกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ   กรมทางหลวง   กรมทรัพยากรน้ำบาดาล   และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยวงเงินรวมทั้งสิ้น 679.07 ล้านบาท การยกเลิกสัญญาขอให้คำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการและดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบราชการที่เกี่ยวข้อง   และหากหน่วยงานเจ้าของโครงการที่ยกเลิกโครงการต้องคืนเงินที่ได้เบิกไปแล้ว  ขอให้เร่งดำเนินการและแจ้งผลการคืนเงินดังกล่าวให้กระทรวงการคลัง [สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)] ทราบด้วย  โครงการที่ขอยกเลิกโครงการและยกเลิกการใช้เงินกู้  หากหน่วยงานเจ้าของโครงการมีความประสงค์จะดำเนินโครงการต่อไป  ขอให้ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบราชการที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย

1.3 เห็นชอบให้กระทรวงต้นสังกัดติดตามเร่งรัดการดำเนินงานและการเบิกจ่ายเงินโครงการภายใต้โครงการเงินกู้ฯ  ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว  พร้อมทั้งจัดทำรายงานผลการดำเนินงานส่งให้ สบน. ทุกเดือน ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป  และกำกับดูแลให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินงานตามกฎหมาย  ระเบียบ  ข้อบังคับ  มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง  และมาตรฐานของทางราชการอย่างเคร่งครัด และให้กระทรวงการคลัง (สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ) ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการและการเบิกจ่ายเงินของหน่วยงานเจ้าของโครงการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดด้วย  รวมทั้งให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

2. ในกรณีที่หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินโครงการแล้วเสร็จและมีเงินคงเหลือจากการดำเนินงาน   ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งรัดการคืนเงินคงเหลือจากการดำเนินโครงการตามขั้นตอนของกฎหมาย   ระเบียบมติคณะรัฐมนตรี   และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง   เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะนำเงินที่เหลือในบัญชีดังกล่าวส่งคืนคลังต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลังเสนอคณะรัฐมนตรีมาเพื่อรายงานสถานะการดำเนินโครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน  ระยะเร่งด่วน : มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (โครงการเงินกู้ฯ) ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 และขออนุมัติขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการและการเบิกจ่ายเงินกู้จนถึงเดือนกันยายน 2562 จำนวนทั้งสิ้น 65 โครงการ ทั้งนี้ หากหน่วยงานเจ้าของโครงการใดไม่สามารถดำเนินการและเบิกจ่ายได้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2562 เห็นควรให้ใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีของหน่วยงานเจ้าของโครงการหรือจากแหล่งอื่นเพื่อดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จต่อไป   รวมทั้งขออนุมัติยกเลิกโครงการและยกเลิกการใช้เงินกู้ของหน่วยงานเจ้าของโครงการที่มีความประสงค์จะขอยกเลิกโครงการและยกเลิกการใช้เงินกู้   ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 โดยสรุปความก้าวหน้าการดำเนินโครงการเงินกู้ฯ ได้ ดังนี้

ผลการดำเนินโครงการเงินกู้ฯ  รวมทั้งสิ้น 4,008 โครงการ  วงเงินที่ สงป.จัดสรร  77,281.67 ล้านบาท ผลการเบิกจ่าย 69,424.74 ล้านบาท เท่ากับร้อยละ 89.75 วงเงินคงเหลือที่ยังไม่เบิกจ่าย 7,856.97 ล้านบาท ประกอบด้วย

1) ดำเนินการแล้วเสร็จ  3,930 โครงการ วงเงินที่ สงป.จัดสรร 66,844.46 ล้านบาท  ผลการเบิกจ่าย 64,202.96 ล้านบาท เท่ากับร้อยละ 96.05 วงเงินคงเหลือที่ยังไม่เบิกจ่าย 2,641.54 ล้านบาท (เงินเหลือจ่ายที่ต้องส่งคืนคลัง)

2) อยู่ระหว่างดำเนินการ  65  โครงการ วงเงินที่ สงป.จัดสรร 9,758.14  ล้านบาท ผลการเบิกจ่าย 5,135.24 ล้านบาท เท่ากับร้อยละ 56.63  วงเงินคงเหลือที่ยังไม่เบิกจ่าย 4,622.90 ล้านบาท

2.1 ) อยู่ระหว่างดำเนินการและเบิกจ่ายภายในปีงบประมาณ 2562 **  (** เป็นโครงการเงินกู้ฯ ที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 ให้ขยายระยะเวลาและเบิกจ่ายถึงปีงบประมาณ 2562 /เดือนกันยายน 2562)  จำนวน 15 โครงการ วงเงินที่ สงป.จัดสรร 2,511.39 ล้านบาท  ผลการเบิกจ่าย 648.63 ล้านบาท เท่ากับร้อยละ 25.83  วงเงินคงเหลือที่ยังไม่เบิกจ่าย 1,862.76 ล้านบาท

2.2) อยู่ระหว่างดำเนินการและประสงค์จะขอขยายระยะเวลาเพื่อดำเนินการต่อ (คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2562 / (เป็นโครงการเงินกู้ฯ ที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 ให้ขยายระยะเวลาและเบิกจ่ายได้ถึงเดือนเมษายน 2561 - พฤษภาคม 2562) จำนวน  50 โครงการ วงเงินที่ สงป.จัดสรร 7,246.75 ล้านบาท  ผลการเบิกจ่าย 4,486.61 ล้านบาท เท่ากับร้อยละ 61.91วงเงินคงเหลือที่ยังไม่เบิกจ่าย 2,760.14 ล้านบาท

3) ประสงค์จะยกเลิก จำนวน 13 โครงการและ 1 แห่ง วงเงินที่ สงป.จัดสรร  679.07 ล้านบาท  ผลการเบิกจ่าย 86.54 ล้านบาท เท่ากับร้อยละ 12.74  วงเงินคงเหลือที่ยังไม่เบิกจ่าย 592.53 ล้านบาท

 ขยายเวลาให้ 50 โครงการ

สรุปจากผลการดำเนินโครงการเงินกู้ฯ มีโครงการเงินกู้ฯ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ รวมทั้งสิ้น 65 โครงการ  ประกอบด้วย  โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินงานโดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการและเบิกจ่ายได้ทันระยะเวลา (ภายในเดือนกันยายน 2562)  ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 รวม 15 โครงการ ในขณะที่อีก 50 โครงการ  อยู่ระหว่างดำเนินการและไม่สามารถเบิกจ่ายได้ภายในเดือนเมษายน 2561 ถึงเดือนพฤษภาคม 2562 ตามกรอบระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้เนื่องจากมีปัญหาในการดำเนินงานบางประการ เช่น ต้องปรับแก้ขอบเขตการดำเนินงานและระยะเวลาดำเนินงานในสัญญาให้สอดคล้องกับพื้นที่และความต้องการของประชาชน หยุดการดำเนินงานชั่วคราวจากปัญหาน้ำท่วม เป็นต้น ในครั้งนี้กระทรวงการคลังจึงขออนุมัติขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการและการเบิกจ่ายเงินกู้สำหรับโครงการเงินกู้ฯ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการออกไปอีกจนถึงเดือนกันยายน 2562 ซึ่งเป็นการขอขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการเงินกู้ฯ ภายใต้กรอบระยะเวลาเดิมที่กำหนดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่เกินปีงบประมาณ 2562

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

โครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน: มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน : มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 โดยมีกรอบวงเงิน 78,294.85 ล้านบาท ประกอบด้วย

(1) โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะเร่งด่วน วงเงินรวม 37,602.84 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยการจัดทำระบบประปาหมู่บ้านและระบบชลประทานเพื่อกักเก็บน้ำ และการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยโดยการจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วม พัฒนาระบบการระบายน้ำ ระบบผันน้ำ และระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการศึกษาสำรวจและออกแบบโครงการขนาดใหญ่ที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปีงบประมาณ 2559

(2) โครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน วงเงินรวม 40,692.01 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงบูรณะทางหลวง การปรับปรุงทางจักรยาน การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างและป้ายจำกัดความเร็ว แก้ไขจุดเสี่ยง การเพิ่มช่องจราจร การขยายเส้นทางการปรับปรุงถนนทางแยกและทางกลับรถ

การดำเนินโครงการดังกล่าวจะสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้ตามเป้าหมายผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ซึ่งโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วนเป็นโครงการขนาดกลางและขนาดเล็กมีพื้นที่ดำเนินการกระจายในภูมิภาคต่างๆ และมีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันทีในปี 2558 โดยคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายเงินได้ 32,954.72 39,756.31 และ 5,583.82 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2558 2559 และ 2560 ตามลำดับ

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินตราต่างประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในกรอบวงเงินไม่เกิน 80,000 ล้านบาท และถ้าภาวะตลาดการเงินในประเทศเอื้ออำนวยและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการเงิน การคลัง และตลาดทุน กระทรวงการคลังสามารถกู้เป็นเงินบาทแทนการกู้เงินตราต่างประเทศได้

เพื่อเตรียมการจัดหาเงินกู้สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 กระทรวงการคลังได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาการจัดหาเงินกู้และบริหารเงินกู้ โดยคณะทำงานฯ ได้พิจารณาสภาวะของตลาดการเงินและสภาพคล่องทั้งต่างประเทศและในประเทศ ต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาล และรูปแบบ การเบิกจ่ายเงินกู้แล้ว เห็นควรกู้เงินบาทจากสถาบันการเงินในประเทศแทนการกู้เงินตราต่างประเทศสำหรับใช้ในการดำเนินโครงการในไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ 2558 (เมษายน – มิถุนายน 2558) โดยมีวงเงินกู้ 10,000 ล้านบาท สำหรับวงเงินกู้สำหรับไตรมาสที่ 4 (กรกฎาคม-กันยายน 2558) จะพิจารณาในโอกาสต่อไปเมื่อทราบผลการลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานเจ้าของโครงการ ซึ่งคาดว่าจะสามารถผูกพันสัญญาได้ครบถ้วนทุกโครงการไม่เกินเดือนมิถุนายน 2558

นอกจากนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลางได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานเจ้าของโครงการภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2558 เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินโครงการและการเบิกจ่ายเงินกู้ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 โดยได้เร่งรัดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่ได้รับอนุมัติไว้เพื่อให้มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็วตามนโยบายของรัฐบาลโดยสำนักงบประมาณจะเร่งจัดสรรเงินกู้ให้แก่หน่วยงานเจ้าของโครงการผ่านระบบ e-Budgeting และหน่วยงานเจ้าของโครงการสามารถเบิกจ่ายเงินกู้ได้ทันทีตามงวดการเบิกจ่ายผ่านระบบ GFMIS ทั้งนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจะได้ติดตามการดำเนินโครงการและประเมินผลการดำเนินงานเพื่อรายงานคณะรัฐมนตรีเป็นระยะๆ ต่อไป

#