โครงข่ายรถไฟชานเมือง ด้านตะวันตก (ตลิ่งชัน-ศิริราช)

เพื่อให้สมสถานะอภิมหานครของกรุงเทพฯปริมณฑล จำเป็นต้องมีโครงข่ายคมนาคมที่มีประสิทธิภาพและหลากหลายรองรับ โครงข่ายรถไฟชานเมืองเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องทำให้มีพร้อมรอบทิศของมหานครกรุงเทพฯ และต่อเชื่อมกับเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสาย(สี)ต่างๆ

รถไฟชานเมือง ตลิ่งชัน-ศิริราช

ข้อมูลจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่  5 มีนาคม  2562 เรื่อง ขออนุมัติดำเนินโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน  ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช ของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีรายละเอียดดังนี้

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช  ในกรอบวงเงิน 6,645.03 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7) ประกอบด้วย ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดการประกวดราคา จำนวน 10.00 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง จำนวน 177.73 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) จำนวน 40.24 ล้านบาท  ค่างานโยธาและระบบราง จำนวน 2,706.56 ล้านบาท งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล จำนวน 1,997.33 ล้านบาท และงานจัดหาตู้รถไฟฟ้า จำนวน 1,713.17 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ 

แหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟเส้นทางดังกล่าว ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 39 (4) เพื่อเป็นค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) ค่างานโยธาและระบบราง งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล งานจัดหาตู้รถไฟฟ้าและค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายในกรอบวงเงิน 6,635.03 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ในประเทศที่เหมาะสม วิธีการให้กู้ต่อและค้ำประกันเงินกู้ หรือให้กู้ตามแผนการดำเนินงานและแผนการใช้จ่ายเงิน และให้การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นงบชำระหนี้รายปีเฉพาะในส่วนค่าโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลรับภาระ ได้แก่

ค่างานโยธาและระบบราง ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 2,924.53 ล้านบาท

ส่วนค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และงานจัดหาตู้รถไฟฟ้า จำนวน 3,710.50 ล้านบาท เห็นควรให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับภาระ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการรับภาระค่าใช้จ่ายของโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ – พญาไท - มักกะสัน – หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม  ช่วงบางซื่อ – หัวลำโพง  ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559

ในส่วนของค่าจ้างที่ปรึกษาจัดการประกวดราคา จำนวน 10 ล้านบาท ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังมิได้รับการบรรจุไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ดังนั้น จึงเห็นสมควรให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการขอบรรจุแผนการกู้เงินไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามนัยพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2549 ระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2561 และการดำเนินการดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดสัดส่วนต่าง ๆ เพื่อเป็นกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 อย่างเคร่งครัดด้วย  ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ. ศ. 2558 - 2565 และได้รับการบรรจุอยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2560 (Action Plan) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 และ 13 ธันวาคม 2559 เห็นชอบและรับทราบแผนดังกล่าวตามลำดับแล้ว  โดยโครงการดังกล่าวเป็นส่วนต่อขยายของรถไฟชานเมืองสายสีแดงทางฝั่งทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานครที่จะเชื่อมต่อการเดินทางจากสถานีตลิ่งชันไปยังบริเวณโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเส้นทางรถไฟของช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช  จะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ – ท่าพระที่สถานีจรัญสนิทวงศ์ และเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก  ที่สถานีศิริราช  ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเดินทางเข้าออกพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น

2. กระทรวงคมนาคมแจ้งว่าโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อนช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช กรอบวงเงิน 6,645.03 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ 2 ทางเลียบไปตามแนวเขตทางรถไฟเดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระยะทาง 4.3 กิโลเมตร โดยจะเป็นรางขนาด 1 เมตร  เดินรถด้วยระบบไฟฟ้าที่จ่ายเหนือหัว (OCS) แรงดันไฟฟ้า AC 25 กิโลโวลต์ รถไฟมีความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง (เดินรถในช่วงตลิ่งชัน - ศิริราชที่ความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง) มีระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ประกอบด้วย ระบบอาณัติสัญญาณและควบคุมรถไฟ   ระบบสื่อสาร   ระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ  ระบบไฟฟ้ากำลัง  โดยมีการจัดซื้อรถไฟฟ้าสำหรับให้บริการ จำนวน 4 ขบวน (16 ตู้) ซึ่งแตกต่างกับโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงช่วงอื่น ๆ  ที่จะมีการจัดซื้อรถไฟฟ้ารวม 220 คัน  เพื่อให้บริการเดินรถในลักษณะต่อเนื่อง (Through Operation) นอกจากนี้ จะมีการสร้างสถานีใหม่รวม 3 สถานี ได้แก่ สถานีตลาดน้ำตลิ่งชัน สถานีจรัญสนิทวงศ์ และสถานีธนบุรี - ศิริราช ทั้งนี้ แม้ว่าตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมจะกำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี  แต่กระทรวงคมนาคมยืนยันว่าจะสามารถเปิดให้บริการในปี 2565

 

เพิ่มเติม

รถไฟชานเมืองในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นระบบรถไฟชานเมืองขนาดใหญ่ในประเทศไทย ให้บริการในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล, จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, จังหวัดสระบุรี, จังหวัดลพบุรี, จังหวัดสุพรรณบุรี, จังหวัดราชบุรี, จังหวัดฉะเชิงเทรา, จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสมุทรสงคราม ดำเนินการโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย รหัสเลขขบวนรถส่วนใหญ่จะเป็นเลขสามหลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 3 และ4(471-480) และใช้ทางวิ่งร่วมกับรถไฟทางไกลและรถไฟสินค้า ทางส่วนใหญ่เป็นทางคู่

ปัจจุบันรถไฟชานเมืองมีให้บริการดังนี้

สายลพบุรี  เชื่อมต่อกับทางรถไฟสายเหนือ รอเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม (กำลังก่อสร้าง)ระยะทางรวม 132.81 กิโลเมตร (ช่วงกรุงเทพ–ลพบุรี) จำนวนเที่ยวรถไฟไป-กลับ14 ขบวน

สายแก่งคอย ทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ รอเชื่อมต่อ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม (กำลังก่อสร้าง) ระยะทางรวม 125.10 กิโลเมตร (ช่วงกรุงเทพ–แก่งคอย)  จำนวนเที่ยวรถไฟไป-กลับ6 ขบวน

สายปราจีนบุรี  ทางรถไฟสายตะวันออก รอเชื่อมต่อรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานอู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ –ดอนเมือง และรอเชื่อมต่อ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน (โครงการ) ระยะทาง 121.78 กิโลเมตร (ช่วงกรุงเทพ–ฉะเชิงเทรา–ปราจีนบุรี)  จำนวนเที่ยวรถไฟไป-กลับ18 ขบวน

สายราชบุรี ทางรถไฟสายใต้ รอเชื่อมต่อรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน (โครงสร้างพื้นฐานเสร็จสมบูรณ์) ระยะทาง 101.31 กิโลเมตร (ช่วงธนบุรี–ศาลายา–ราชบุรี) จำนวนเที่ยวรถไฟไป-กลับ12 ขบวน ขบวน

สายสุพรรณบุรี ทางรถไฟสายใต้ รอเขื่อมต่อรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน (โครงสร้างพื้นฐานเสร็จสมบูรณ์)ระยะทาง 157.60 กิโลเมตร (ช่วงกรุงเทพ–สุพรรณบุรี) จำนวนเที่ยวรถไฟไป-กลับ 2 ขบวน

สายแม่กลอง รอรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม (โครงการ)  ระยะทาง 31.22 กิโลเมตร (ช่วงวงเวียนใหญ่–มหาชัย จำนวนเที่ยวรถไฟไป-กลับ 34 ขบวน

 #