ข้อตกลงการร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง / การขนส่งข้ามพรมแดน ความคืบหน้าที่น่าสนใจ

แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติที่สำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  อารยธรรมลุ่มแม่น้ำโขงเกิดขึ้นมายาวนาน  ปรากฏชัดในประวัติศาสตร์อาณาจักรล้านช้าง  ล้านนา และอาณาจักรขอม  เป็นต้น  ปัจจุบันลุ่มแม่น้ำโขงยังมีความสำคัญกับประเทศต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำปากอ่าว  นั่นคือ จีน  พม่า  ลาว  ไทย  กัมพูชา และเวียดนาม  การร่วมมือทางเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ  ของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงจึงมีความสำคัญอย่างต่อเนื่อง และมีความพยายามร่วมกันในการยกระดับพัฒนามาโดยตลอด

บทบาทสาธารณรัฐประชาชนจีน “พี่เบิ้ม” แห่งลุ่มแม่น้ำโขง

จีนมีบทบาทสำคัญต่อลุ่มแม่น้ำโขง  ไม่ใช่เพียงจากสภาพภูมิศาสตร์ที่อยู่ด้านต้นน้ำ  หากยังรวมถึงการเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ (และการทหาร) การร่วมมือในลักษณะพหุพาคี และทวิภาคีระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ จึงสำคัญเสมอ

สำหรับประเทศไทยมีข้อมูลความร่วมมือไทย - จีนล่าสุดจาก มติคณะรัฐมนตรีวันที่  12  มีนาคม  2562  เรื่อง ขออนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับสถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับสถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจฯ ทั้งสองฉบับดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

2. อนุมัติให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

3. อนุมัติให้อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับสถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง

สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ทั้ง 2 ฉบับ

1. ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย  มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณของโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากฝ่ายจีนให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้กองทุนอย่างสูงสุด โดยมุ่งบริหารจัดการกองทุนเพื่อให้เกิดสันติภาพและความมั่งคั่งต่อประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง โดยเคารพกฎหมายและกฎระเบียบของทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศไทย และร่วมกันติดตามประเมินโครงการและการใช้กองทุน

สำหรับโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ได้แก่ โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประสานงานระดับชาติของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (Capacity Building for National Coordinator of Mekong – Lancang Cooperation) จำนวนเงิน 3,300,000 หยวน โดยกระทรวงการต่างประเทศมอบหมายให้สถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute: MI) เป็นผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจฯ ไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายของทั้งสองฝ่ายและไม่มีถ้อยคำและบริบทที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ

2. ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับสถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประสานงานระดับชาติของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้างของประเทศสมาชิก ผ่านการฝึกอบรมร่วม การสัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ การศึกษา และวิจัยร่วม การพัฒนาและแบ่งปันเครือข่ายข้อมูลเพื่อให้ผู้ประสานงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีทักษะในการประสานงาน เจรจาประเด็นที่ต้องการผลักดัน วิเคราะห์นโยบาย ประเมินผลการดำเนินโครงการความร่วมมือ รวมทั้งมีความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสาขาความร่วมมือหลักภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ได้แก่ ความเชื่อมโยง ศักยภาพในการผลิต เศรษฐกิจข้ามพรมแดน ความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ และการเกษตรและการขจัดความยากจน โดยมีระยะเวลาของความร่วมมือ 1 ปีจากวันที่มีผลบังคับใช้ เว้นแต่จะมีการยกเลิกของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้า 2 เดือนไปยังอีกฝ่าย และอาจตกลงที่จะขยายบันทึกความเข้าใจฯ นี้ ตามข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรสำหรับเงื่อนไขต่อไป

ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ไมjมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางกฎหมายหรือข้อผูกพันทางกฎหมายระหว่างสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงและกระทรวงการต่างประเทศ

 

ข้อตกลงการขนส่งข้ามพรมแดน

ในเรื่องนี้มีข้อมูลจาก มติคณะรัฐมนตรีวันที่  12  มีนาคม  2562  เรื่อง  ขอความเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมสำหรับความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 7

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมสำหรับความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 7  ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ร่วมให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว

สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมสำหรับความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 7  ได้แก่ (1) การดำเนินการตามความตกลง CBTA (GMS Cross-Border Transport Agreement: CBTA) (2) การขยายพิธีสาร 1 ของความตกลง CBTA (เส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศจุดข้ามแดน) (3) สถานะของการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจในการเริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (IICBTAs) และ (4) การติดตามและประเมินผล

ทั้งนี้ กระทรวงโยธาธิการและการขนส่งของกัมพูชาร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย จะจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมสำหรับความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 7 ในวันที่ 13 มีนาคม 2562 ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งธนาคารพัฒนาเอเชียจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณารับรองแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีฯ

การขนส่งข้ามพรมแดนไทย – เมียนมา

เรื่องนี้มีข้อมูลจาก มติคณะรัฐมนตรีวันที่  12  มีนาคม  2562  เรื่อง  ขออนุมัติการจัดทำและลงนามร่างบันทึกความเข้าใจในการเริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (IICBTA) ในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างไทย – เมียนมา และร่างบทเพิ่มเติม (Addendum)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการจัดทำและลงนามบันทึกความเข้าใจในการเริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (IICBTA) ในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างไทย – เมียนมา และร่างบทเพิ่มเติม (Addendum) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ทั้งนี้ หากก่อนการลงนามมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจและร่างบทเพิ่มเติมดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทยให้กระทรวงคมนาคมหารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศโดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย

สาระสำคัญ

1. ร่างบันทึกความเข้าใจในการเริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (IICBTA) ในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างไทย – เมียนมา วัตถุประสงค์ของร่างบันทึกความเข้าใจฯ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารข้ามพรมแดนระหว่างไทย – เมียนมา โดยใช้เส้นทางเดินรถสำหรับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ณ ด่านพรมแดนแม่สอด – เมียวดี และตลอดแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (EWEC) (เมาะลำไย – เมียวดี – แม่สอด – พิษณุโลก – ขอนแก่น – กาฬสินธุ์ – มุกดาหาร) และใช้ใบอนุญาตขนส่งทางถนน (Permit) และเอกสารนำเข้าชั่วคราว (Temporary Admission Document: TAD) สำหรับการนำเข้ารถยนต์ชั่วคราว ฝ่ายละ 100 ฉบับ ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนไป – มา ระหว่างยานพาหนะได้ (ใบอนุญาต 1 ฉบับ ต่อ 1 คัน) โดยทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการตามมาตรการในการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการข้ามแดนทั้งในด้านพิธีการศุลกากร การเข้าเมือง และการกักกัน รวมถึงพิธีการข้ามพรมแดนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองบุคคล สัตว์ พืช สุขอนามัย ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ใน 30 วัน หลังจากวันที่ภาคีในบันทึกความเข้าใจทั้งสองฝ่ายลงนาม

2. ร่างบทเพิ่มเติม (Addendum) มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขบันทึกความเข้าใจฯ ตามข้อ 1 ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

(1) ให้บันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้สำหรับจุดผ่านแดนแม่สอด – เมียวดี รวมถึงสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา แห่งที่ 1 และสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา แห่งที่ 2 (บริเวณเมียวดี – บ้านวังตะเคียนใต้)

(2) การดำเนินการขนส่งภายใต้ข้อตกลงอื่นที่มีอยู่ในปัจจุบันจะต้องนำมารวมภายใต้บันทึกความเข้าใจในการเริ่มใช้ความตกลงระหว่างไทย – เมียนมา ภายในระยะเวลา 18 เดือน โดยมีเงื่อนไขว่าภาคีทั้งสองฝ่ายจะต้องออกใบอนุญาตขนส่งถึง 500 ฉบับ หรือจำนวนอื่นที่เห็นชอบร่วมกัน

(3) อนุญาตให้มีการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารข้ามพรมแดน ณ จุดผ่านแดนแม่สอด –  เมียวดี และตามเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก รวมถึงการขยายเส้นทางไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาในเมียนมา เมืองย่างกุ้ง กรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบังในไทย (ผ่านเส้นทาง Kawkarek – Kyondoe – Za Tha Pyin – Thaton และ/หรือ Kawkarek – Kyondoe – Hpa An – Thaton) และเส้นทางที่ได้รับอนุญาต  อื่น ๆ ที่อาจจะเพิ่มในภายหลัง ทั้งนี้ บทเพิ่มเติมฯ จะมีผลบังคับใช้ใน 30 วัน ภายหลังการลงนาม

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง : Greater Mekong Subregion (GMS) เป็นความร่วมมือของ 6 ประเทศ คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน (ยูนนาน) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535  โครงการนี้มีธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB: Asian Development Bank) เป็นผู้ให้การสนับสนุนหลัก กลุ่มประเทศ GMS มีพื้นที่รวมกันประมาณ 2 ล้าน 3 แสน ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ พื้นที่ของยุโรปตะวันตก มีประชากรรวมกันประมาณ 250 ล้านคน และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงติดต่อระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โครงการ GMS มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุนอุตสาหกรรม การเกษตร และบริการ  สนับสนุนการจ้างงานและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น ส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือทางเทคโนโลยีและการศึกษาระหว่างกัน ตลอดจนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งเสริมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถรวมทั้งโอกาสทางเศรษฐกิจในเวทีการค้าโลก

การเริ่มต้นการดำเนินงานที่สำคัญคือ  ระหว่าง 4-5 กรกฎาคม 2548 จีนได้เป็นเจ้าภาพการประชุม GMS Summit ครั้งที่ 2 ณ นครคุนหมิง   ในการประชุมได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ร่วมคุนหมิง (Kunming Declaration) ซึ่งมีเป้าหมายคือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความปรองดองและความมั่งคั่งของอนุภูมิภาค รวมถึงความพยายามในการลดปัญหาความยากจนและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยสนับสนุนให้มีการติดต่อและการแข่งขันระหว่างกัน นอกจากนั้น ผู้นำประเทศ GMS ได้แสดงเจตนารมณ์ให้มีการลงนามในภาคผนวกและพิธีสารแนบท้ายของความตกลงขนส่งข้ามพรมแดน (GMS Cross-Border Transport Agreement)ให้เสร็จครบถ้วนภายในปี 2548 และ เห็นชอบกับความริเริ่มในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพโดยให้การคุ้มครองระบบนิเวศของพื้นที่ป่าไม้และต้นน้ำในอนุภูมิภาค ภายใต้โครงการ GMS Bio-diversity Corridor  ทั้งนี้ได้มีการลงนามข้อตกลงในเรื่องการขนส่ง การค้าพลังงาน การควบคุมโรคติดต่อในสัตว์ และ การสื่อสารโทรคมนาคม และลาวรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม GMS Summit ครั้งที่ 3 ในปี 2551

สาขาความร่วมมือของ GMS มี 9 สาขา ได้แก่ คมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม พลังงาน การค้า การลงทุน เกษตร สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์   ในการดำเนินงานได้กำหนด แผนงานลำดับความสำคัญสูง (Flagship Programs) จำนวน 11 แผนงาน ได้แก่

1) แผนงานพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor)

2) แผนงานพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก  (East-West Economic Corridor)

3) แผนงานพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor)

4) แผนงานพัฒนาเครือข่ายโทรคมนาคม (Telecommunications Backbone)

5) แผนงานซื้อ-ขายไฟฟ้าและการเชื่อมโยงเครือข่ายสายส่งไฟฟ้า (Regional Power Interconnection and Trading  Arrangements)

6) แผนงานการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดน (Facilitating Cross-Border Trade and  Investment)

7)    แผนงานเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน (Enhancing Private Sector  Participation and Competitiveness)

8)    แผนงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และทักษะความชำนาญ (Developing Human Resources and Skills Competencies)

9)    กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งแวดล้อม (Strategic Environment Framework)

10)  แผนงานการป้องกันน้ำท่วมและการจัดการทรัพยากรน้ำ (Flood Control and Water Resource  Management)

11)  แผนงานการพัฒนาการท่องเที่ยว (GMS Tourism Development)

 

เส้นทางคมนาคมขนส่งที่สำคัญใน GMS

เส้นทางสำคัญๆ ใน GMS ตามเส้นทางเศรษฐกิจตามแนวเหนือ-ใต้ และเส้นทางเศรษฐกิจตามแนวตะวันออก-ตะวันตก แบ่งได้ ดังนี้

1. เส้นทาง R3A คุนหมิง-บ่อหาน (จีน)-บ่อเต็น-ห้วยทราย(สปป.ลาว)-เชียงของ-กรุงเทพฯ (ไทย) อยู่ ภายใต้กรอบเส้นทางเศรษฐกิจตามแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor: NSEC)  

2. เส้นทาง R3B คุนหมิง-ต้าลั้ว (จีน)-ท่าขี้เหล็ก (พม่า)-แม่สาย-กรุงเทพฯ (ไทย) ซึ่งบรรจบกับเส้นทาง R3Aที่เมืองเชียงรุ้งของจีน

3. เส้นทาง R9 ดานัง-ลาวบาว (เวียดนาม)-แดนสะหวัน-สะหวันนะเขต (สปป.ลาว)-มุกดาหาร-แม่สอด (ไทย)-เมียวดี-มะละแหม่ง (พม่า) ถือเป็นเส้นทางสำคัญภายใต้กรอบเส้นทางเศรษฐกิจตามแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC)

4. เส้นทางสำคัญอื่นๆ ได้แก่ โครงการเส้นทางรถไฟหนานหนิง-ฮานอย-กรุงเทพฯ-สิงคโปร์ โครงการนี้จะเป็นระบบรางสำคัญที่เชื่อมต่อจีนตอนใต้กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเชื่อมต่อการขนส่งระบบรางสู่ท่าเรือต่างๆ เช่น ท่าเรือ Hai Phong (เวียดนาม) ท่าเรือแหลมฉบัง (ไทย) และท่าเรือสิงคโปร์ เส้นทาง R12 (นครพนม-ท่าแขก-ฮาติงห์) อาจเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าเกษตรที่สำคัญจากไทยสู่ฮานอยและจีนตอนใต้

#