สร้างทางวิ่งที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิวงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันว่าแผนงานหลักหรือ Master Plan ของสนามบินสุวรรณภูมิไม่ได้เป็นไปตามกำหนดเวลาเดิม โดยจุดสำคัญคือการสร้างทางวิ่ง  อาคารบริการผู้โดยสาร และธุรกิจเกี่ยวช้องไม่เป็นไปตามกำหนดการ ส่งผลให้ปริมาณการจราจร การขึ้นลงของเครื่องบิน  อาคารสถานที่รองรับจำนวนผู้โดยสารและผู้เกี่ยวข้องต่างๆ  มีไม่เพียงพอ  อย่างไรก็ตาม  ภาครัฐก็พยายามเร่งรัดการดำเนินงานตามแผนงานหลักอย่างเต็มที่

 

นับหนึ่ง(อีกครั้ง?)รันเวย์ที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ

มติคณะรัฐมนตรีวันที่  17 เมษายน  2562  เรื่อง  โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3  ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) วงเงินลงทุนรวม 21,795.941  ล้านบาท ทั้งนี้ ทอท.จะสามารถลงนามผูกพันในสัญญาก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ เมื่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ หรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment: EHIA) ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีทางวิ่ง 2 เส้น คือ ทางวิ่งฝั่งตะวันตก ความยาว 3,700 เมตร (ด้านพื้นที่คลังสินค้า) และทางวิ่งฝั่งตะวันออก ความยาว 4,000 เมตร โดยทางวิ่งทั้งสองเส้นตั้งอยู่ในแนวขนานกัน มีระยะห่างประมาณ 2,200 เมตร มีขีดความสามารถรองรับเที่ยวบินได้รวม 64 เที่ยวบินต่อชั่วโมง แม้ยังมีศักยภาพเพียงพอรองรับปริมาณการจราจรในชั่วโมงคับคั่งในปัจจุบันที่มีประมาณ 63 เที่ยวบินต่อชั่วโมงได้ แต่ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน หรือจำเป็นต้องมีการปิดซ่อมบำรุงทางวิ่งเส้นใดเส้นหนึ่งจะทำให้ความสามารถในการรองรับเที่ยวบินขึ้น ลง ลดลงเหลือ 34 เที่ยวบินต่อชั่วโมง (ลดลงประมาณร้อยละ 50) นอกจากนี้ เที่ยวบินขนส่งสินค้าบางเที่ยวบินจำเป็นต้องไปใช้ทางวิ่งฝั่งตะวันออกสำหรับวิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นทางวิ่งที่มีความยาวมากกว่าจึงรองรับเที่ยวบินที่มีน้ำหนักบรรทุกมากได้ ในขณะที่อาคารคลังสินค้าตั้งอยู่ทางฝั่งทิศตะวันตกทำให้เครื่องบินขนส่งสินค้าต้องขับเคลื่อนเป็นระยะทางไกลเพื่อขึ้นบินทำให้สิ้นเปลืองเวลาและเชื้อเพลิง และยังเป็นการเพิ่มความหนาแน่นบนทางเชื่อมทางวิ่งทั้งสองเส้นด้วย

2. โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นการก่อสร้างทางวิ่งทางฝั่งตะวันตก (ฝั่งเดียวกับอาคารคลังสินค้าและทางวิ่งฝั่งตะวันตกความยาว 3,700 เมตร) มีความกว้าง 60 เมตร และความยาว 4,000 เมตร ขนานไปกับทางวิ่งฝั่งตะวันตก โดยโครงการฯ จะรวมถึงการจัดหาระบบเครื่องช่วยเดินอากาศยาน การก่อสร้างระบบระบายน้ำ และสถานีกู้ภัยและดับเพลิง รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโครงการนี้จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และรองรับการปิดทางวิ่งเพื่อซ่อมบำรุงหรือในกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งยังอำนวยความสะดวกให้แก่เที่ยวบินขนสินค้าด้วย โครงการนี้เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (27 มีนาคม 2558) รับทราบแล้ว ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2562 และคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564

3. กระทรวงคมนาคมแจ้งว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ได้เสนอโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีกรอบวงเงินลงทุนรวม 22,418.253 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงค่างานก่อสร้างทางวิ่งและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางเสียง

อย่างไรก็ตาม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นควรปรับลดวงเงินค่างานก่อสร้างส่วนต่อขยาย Taxiway B2 วงเงินรวม 622.311 ล้านบาท (รวมการประหยัดค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ร้อยละ 3 สำรองราคาเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 10 และภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7) เนื่องจากเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของทางขับเพื่อรองรับการใช้งานลานจอดอากาศยานประชิดอาคารของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ทอท. ทำให้วงเงินลงทุนของโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3  ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปรับลดลงจาก 22,418.253 ล้านบาท เป็น 21,795.941 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) จะสามารถลงนามผูกพันในสัญญาก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ เมื่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA) ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม (กก.วล.) แล้ว

ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีทางวิ่ง 2 เส้น มีขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินได้ 64 เที่ยวบินต่อชั่วโมง การสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 จะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง โดยมีเป้าหมายดำเนินโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ด้านทิศตะวันตกของทางวิ่งเส้นที่ 1 ฝั่งตะวันตก ความยาว 4,000 เมตร ความกว้าง 60 เมตร ภายในปี 2564

ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ระบบทางวิ่งของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะสามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคตและรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศได้เพียงพอ แม้ในขณะที่ต้องปิดทางวิ่งเส้นใดเส้นหนึ่งเพื่อการซ่อมบำรุงหรือในกรณีฉุกเฉิน และสามารถประหยัดค่าเชื้อเพลิงและระยะเวลาในการครอบครองทางวิ่งของเครื่องบินขนส่งสินค้า

ผลต่อฐานะทางการเงินของ ทอท. พบว่าในช่วงปี 2562-2571 ทอท.จะมีกำไรสุทธิตลอดระยะเวลา 10 ปี ประมาณ 323,942.464 ล้านบาท หรือเฉลี่ยกำไรสุทธิปีละ 32,394.246 ล้านบาท ขณะที่การประมาณการกระแสเงินสดในช่วงเดียวกันพบว่า ทอท.ยังมีสภาพคล่องทางการเงินที่เพียงพอ ดังนั้น จะใช้เงินรายได้ของ ทอท.มาดำเนินโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ทั้งหมด โดยให้ ทอท.ตั้งงบลงทุนประจำปี 2563-2565 รองรับเป็นต้นไป

#