อีกก้าวของรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ตั้งหน่วยงานบริหารจัดการ
  • 20 มิถุนายน 2019 at 13:23
  • 1146
  • 0

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน อู่ตะเภา สุวรรณภูมิ ดอนเมืองมีความสำคัญต่อโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC   และอีอีซี.มีความสำคัญต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงการยกระดับรายได้ของประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับสูง  เมื่อการเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562 ผ่านไป และได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 เป็นนายกคนเดิม  พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  (หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ-คสช.)  ความมั่นใจว่าไม่มีปัญหา “รอยต่อ” ระหว่างรัฐบาลภายใต้กำกับของ คสช.  กับรัฐบาลที่ “มาจากการเลือกตั้ง”  มีผลเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนด้านต่างๆ  ตั้งแต่การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จนถึงการลงทุนในอุตสาหกรรม  และธุรกิจต่างๆ

ที่สำคัญคือการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานหลัก และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ  เพื่อให้อีอีซี.เดินหน้า  การตั้งหน่วยงานบริหารจัดการ การร่วมทุนพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จัดได้ว่าเป็นปัจจัยบวกที่มีน้ำหนักมากทีเดียว

การผลักดันที่ต่อเนื่องของครม.

“รัฐบาลไร้รอยต่อ”  อาจใช้เรียกได้กับการทำงานต่อเนื่องของรัฐบาลสองชุดดังกล่าวข้างต้น  นั่นคือไม่ต้องเสียจังหวะเวลาในการตัดสินใจที่มีผลสั่งการให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ทั้งนี้มีตัวอย่างจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18  มิถุนายน  2562 เรื่อง  ร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ ในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562 (ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 5/2562 เรื่อง การปรับปรุงประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ ในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560)

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 5/2562 เรื่อง การปรับปรุงประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ ในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 และร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ ในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ

สกพอ. เสนอว่า

1. คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ในการประชุมครั้งที่ 4/2562      เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งหน่วยงานเพื่อติดตาม กำกับ และบริหารจัดการสัญญาร่วมลงทุนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินโดยให้หน่วยงานอยู่ภายใต้กำกับของ สกพอ. 

2. ดังนั้น เพื่อให้การทำหน้าที่กำกับดูแลภาพรวมและการบริหารสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯ สำเร็จตามวัตถุประสงค์โครงการ มีประสิทธิภาพ สอดคล้องและเป็นไปตามนโยบาย กพอ. สกพอ. จึงได้เสนอร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ ในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562 ต่อที่ประชุม กพอ. เพื่อพิจารณา ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ ในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 ในหมวด 3 การกำกับดูแลและติดตามผล 

3. กพอ. ในการประชุมครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเห็นชอบการปรับปรุงประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 ตามที่ สกพอ. เสนอ

4. นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกพิจารณาแล้วเห็นชอบให้นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

 สาระสำคัญของร่างประกาศ

ปรับปรุงประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ ในการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 ในหมวด 3 การกำกับดูแลและติดตามผล ดังนี้ 

1. เพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการกำกับดูแล โดยให้มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการตามที่เห็นสมควร หรือเป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบาย 

2. ปรับปรุงข้อความในวรรคท้ายของข้อ 20 จากเดิม “หน่วยงานเจ้าของโครงการอาจว่าจ้างที่ปรึกษาไทยและ/หรือที่ปรึกษาต่างประเทศซึ่งมีคุณสมบัติตามที่สำนักงานประกาศกำหนด เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแลได้” เป็น “สำนักงานและ/หรือหน่วยงานเจ้าของโครงการอาจว่าจ้างที่ปรึกษาไทยและ/หรือที่ปรึกษาต่างประเทศซึ่งมีคุณสมบัติตามที่สำนักงานประกาศกำหนด เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแลได้”  

3. กำหนดให้เมื่อได้มีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนแล้ว ให้คณะกรรมการนโยบายแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสัญญา ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนสำนักงานเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนหน่วยงานเจ้าของโครงการ ผู้แทนกระทรวงเจ้าสังกัด ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งแต่งตั้งจากผู้มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญอันจะเป็นประโยชน์แก่การดำเนินการของคณะกรรมการบริหารสัญญา เป็นกรรมการ และผู้แทนสำนักงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้มีหน้าที่และอำนาจควบคุมและกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานเจ้าของโครงการตามสัญญาร่วมลงทุน รวมถึงกำหนดแผนงานเพื่อกำกับดูแลและตรวจสอบให้หน่วยงานเจ้าของโครงการและเอกชนคู่สัญญาปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุนได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน รายงานผลการดำเนินงานความคืบหน้า ปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดหรืออาจเกิดขึ้นในสัญญาร่วมลงทุนต่อคณะกรรมการกำกับดูแลและสำนักงาน อย่างน้อยสามเดือนต่อหนึ่งครั้ง และพิจารณาดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสัญญาร่วมลงทุนตามที่เห็นสมควร หรือเป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายคำสั่งของคณะกรรมการกำกับดูแลและสำนักงาน

4. กำหนดให้สำนักงานจัดหาบุคลากรและว่าจ้างที่ปรึกษาไทยและ/หรือที่ปรึกษาต่างประเทศซึ่งมีคุณสมบัติตามที่สำนักงานประกาศกำหนด เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารสัญญาและหน่วยงานเจ้าของโครงการ ในการควบคุมและกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเอกชนคู่สัญญาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน และในกรณีที่คณะกรรมการบริหารสัญญาเห็นสมควร อาจเรียกให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดส่งบุคลากรสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารสัญญาก็ได้

5. กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการและสำนักงานดำเนินการเกี่ยวกับเงินทุนเพื่อใช้ในกิจกรรมของคณะกรรมการบริหารสัญญา รวมถึงการจัดหาบุคลากรและว่าจ้างที่ปรึกษา โดยให้หารือกับสำนักงบประมาณเพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณ และ/หรือเจรจากับเอกชนคู่สัญญา เพื่อร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าวในสัดส่วนที่เหมาะสมและเป็นธรรม

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

ผลในทางปฏิบัติของมติครม.นี้คือ ต้องตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และตั้งหน่วยงานเพื่อติดตามและกำกับดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนคณะกรรมการกำกับดูแล โดยเริ่มทำงานทันทีที่สัญญาร่วมลงทุนมีผลในเดือนกรกฎาคม 2562

หน่วยงานดังกล่าวนี้  (ยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ) มีหน้าที่รับผิดชอบใน 5 ฝ่าย คือ

1.ฝ่ายก่อสร้างและเดินรถ มีหน้าที่กำกับดูแลการก่อสร้าง การติดตั้งระบบ การทดสอบ และตรวจสอบระบบของโครงการฯ และการดำเนินงานโครงการเกี่ยวกับรถไฟของเอกชน ระดับการให้บริการ และความปลอดภัย ประสานงานการเชื่อมต่อของโครงการฯ กับโครงการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และดูแลความสอดคล้องของโครงการฯ กับโครงข่ายคมนาคมอื่นที่เกี่ยวข้อง

2.ฝ่ายกำกับดูแลการส่งมอบโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงค์ มีหน้าที่กำกับดูแล และบริหารจัดการการส่งมอบ และโอนสิทธิการดำเนินการโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ให้แก่เอกชน

3.ฝ่ายกำกับดูแลการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟและบริการผู้โดยสาร และพื้นที่เชิงพาณิชย์ (TOD) มีหน้าที่กำกับดูแลการก่อสร้างและการดำเนินงาน TOD ของเอกชนให้เป็นไปตามสัญญาร่วมลงทุน เช่น การจ่ายค่าเช่าที่ดินเพื่อพัฒนา TOD การก่อสร้างทางเข้าออกพื้นที่ TOD การประสานงานหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับงาน TOD

4.ฝ่ายกำกับดูแลสัญญา มีหน้าที่กำกับดูแลให้เอกชนปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุน และสัญญาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน้าที่ของ ร.ฟ.ท.ตามสัญญา เช่น การกำหนดค่าโดยสาร การจ่ายเงินร่วมลงทุน การแบ่งรายได้เอกชนต่อโครงการ

5.ฝ่ายบริหารจัดการโครงการ มีหน้าที่บริหารจัดการโครงการในภาพรวม ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินโครงการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การส่งมอบพื้นที่โครงการให้กลุ่มซีพี การติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม การคัดเลือกและจัดจ้างที่ปรึกษาโครงการฯ และการบริหารจัดการภายในหน่วยงานฯ

การบริหารจัดการและกำกับการทำงานของทั้ง 5 ฝ่ายดังกล่าว อยู่ภายใต้การดูแลของผู้อำนวยการโครงการ ซึ่งเป็นผู้แทน สกพอ. (กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริการสัญญา) รวมทั้งหน่วยงานฯ จำเป็นต้องมีที่ปรึกษาประจำที่มีความเชี่ยวชาญในการกำกับดูแลและบริหารสัญญาอย่างน้อยต้องประกอบด้วย ที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง ที่ปรึกษาตรวจสอบ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และที่ปรึกษาด้านการเงิน โดยให้ สกพอ. และ/หรือ ร.ฟ.ท ร่วมดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษาดังกล่าว

โครงสร้างหน่วยงานฯ ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารสัญญา 5 คน คือ

1.ผู้แทน ร.ฟ.ท. (ระดับไม่ต่ำกว่ารองผู้ว่าการ) เป็นประธานกรรมการ

2.ผู้แทน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สกพอ.(เลขาธิการ สกพอ.แต่งตั้ง) เป็นรองประธานกรรมการ

3.ผู้แทนกระทรวงคมนาคม เป็นกรรมการ

4.ผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งโดย สกพอ.เป็นกรรมการ

และ 5.ผู้แทน สกพอ.(เลขาธิการ กพอ.แต่งตั้ง) เป็นกรรมการและเลขานุการ

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริการสัญญา มีดังนี้

1.กำหนดนโยบายของหน่วยงานฯ ในการติดตามและกำกับสัญญาร่วมลงทุน

2.กำหนดแผนการประสานงานกับ ร.ฟ.ท.ในส่วนหน้าที่ของ ร.ฟ.ท.ตามสัญญาร่วมลงทุน

3.กำหนดแผนงานในการกำกับดูแลและตรวจสอบเอกชนคู่สัญญา

4.กำหนดให้ ร.ฟ.ท.เปิดเผยข้อมูลของโครงการฯ และข้อมูลของเอกชนคู่สัญญาให้คณะกรรมการบริหารสัญญา

5.จัดจ้างและกำกับดูแลที่ปรึกษาโครงการฯ

6.พิจารณาให้ความเห็นการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนแก่คณะกรรมการกำกับดูแล

7.รายงานความคืบหน้าหรือปัญหา ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในโครงการฯ ต่อคณะกรรมการกำกับดูแลและ สกพอ.

8.ให้ความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในโครงการฯ แก่ ร.ฟ.ท.

และ สกพอ. และ 9. ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้การดำเนินโครงการฯ สำเร็จเป็นไปตามกรอบนโยบายของ กพอ.และสัญญาร่วมลงทุน

กำลังบุคลากร ในหน่วยงานฯกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ 30 คน ประกอบด้วยบุคลากรจาก ร.ฟ.ท.และบุคลากรจาก สกพอ.แบ่งเป็น อัตราประจำ 15 อัตรา ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จาก ร.ฟ.ท. 10 อัตรา เป็นระดับหัวหน้าฝ่าย 5 อัตรา และระดับผู้ช่วยหัวหน้าฝ่าย 5 อัตรา รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่จาก สกพอ. 5 อัตรา ประกอบด้วย ระดับผู้อำนวยการ 1 อัตรา และระดับผู้ช่วยผู้อำนวยการ 4 อัตรา นอกจากนี้ ต้องมีอัตราว่าจ้างชั่วคราวอีก 15 อัตรา

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วย “ที่ปรึกษา”

การจัดตั้งหน่วยงานฯ มีกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรประมาณ 44 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งมีอัตราค่าจ้างที่ปรึกษาประจำที่มีความเชี่ยวชาญในการกำกับดูแลและบริหารสัญญา รวม 190 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น ค่าจ้างที่ปรึกษาในช่วงก่อสร้างระหว่างการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์โครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ กรอบวงเงิน 100 ล้านบาทต่อปี ช่วงก่อสร้างหลังจากถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ 60 ล้านบาทต่อปี และช่วงดำเนินงานรถไฟ กรอบวงเงิน 30 ล้านบาทต่อปี

เมื่อรวมค่าใช้จ่ายหน่วยงานฯ ข้างต้น  ในระยะเวลาเวลา 50 ปี  คำเป็นค่าใช้จ่ายรวมโดยประมาณได้ดังนี้

1. ช่วงการก่อสร้างโครงการฯ ระหว่างการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์โครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ (ปีที่ 1-2) กรอบวงเงินประมาณ 150 ล้านบาทต่อปี

2.ช่วงก่อสร้างโครงการฯ หลังการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ (ปีที่ 3-5) แล้วเสร็จ วงเงินประมาณ 110 ล้านบาทต่อปี

และ 3.ช่วงการดำเนินโครงการฯ (ปีที่ 6-50) วงเงินประมาณ 80 ล้านบาทต่อปี

รวมแล้วเป็นเงิน 4,230 ล้านบาท ถ้าพิจารณาเฉพาะค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารสัญญาจะอยู่ที่ 1,730 ล้านบาท

#