เร่งรัดสร้างงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่พลังหนุนรัฐบาลชุดใหม่
  • 21 มิถุนายน 2019 at 12:37
  • 1765
  • 0

รัฐบาลจากการเลือกตั้งมีอายุยาวนานที่สุด 4  ปี  แต่ส่วนใหญ่มักไปไม่ถึง เมื่อประเมินว่ารัฐบาลที่มีพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  มาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29  น่าจะจัดตั้งเรียบร้อยประมาณปลายเดือนมิถุนายนหรือต้นเดือนกรกฎาคม  2562 อายุของรัฐบาลชุดนี้ควรยืนยาวไปถึงปี  2562  และ 2564

อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างที่ต้องอาศัยปัจจัยความมีเสถียรภาพของรัฐบาลและภาครัฐเพื่อทำให้การตัดสินใจลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมกะโปรเจคด้านคมนาคมขนส่ง ควรมองในแง่บวกได้  โดยเฉพาะอย่างยุ่งกลุ่มบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่รับงานก่อสร้างภาครัฐเป็นกิจการหลักของตนเอง

 

ปลายอุโมงค์มีแสงสว่าง(สำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง)

“วิจัยกรุงศรี” มีมุมมองว่า ในช่วงปี 2562-2564 ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมีแนวโน้มเติบโตในอัตราเร่งขึ้นตามลำดับ  นั่นคือ

ปี 2562 คาดว่ามูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมจะเติบโตในอัตรา 3.5-5.0%

เมื่อมีความชัดเจนจากคณะรัฐบาลชุดใหม่ ในปี 2563 และปี 2564 ธุรกิจมีแนวโน้มขยายตัว เร่งขึ้นเป็น 5-7% และ 7.5 - 9.5% ตามลำดับ

ปัจจัยสนับสนุนมากมาจาก การเร่งสร้างผลงานที่มีการศึกษาและตระเตรียมงานมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นการเร่งรัดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ  ขณะเดียวกันการลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชนที่เริ่มดำเนินการแล้วก็ต้องทำให้เสร็จตามแผนการ นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่ภาคเอกชนจะลงทุนเพิ่ม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนเพิ่มที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่พัฒนาในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โครงการรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ และโครงการ Mix used

สภาพดังกล่าวเป็นโอกาสดีของอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง  และมีผลดีกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องเกี่ยวข้องต่างๆ มากมาย เช่น อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์  อุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการจ้างแรงงานทุกระดับที่เกี่ยวข้อง เมื่อพิจารณาจากขนาดเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างในช่วงปี 2552 -2561 ที่มูลค่าการลงทุนก่อสร้างมีสัดส่วนเฉลี่ยสัดส่วนเฉลี่ย 8.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ผลกระทบทวีคูณทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างที่อยู่ในอัตราราว 12  เท่า  ย่อมมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจและธุรกิจต่างๆ  อย่างมีพลังทั้งระหว่างก่อสร้าง และหลังจากก่อสร้างเสร็จเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ  เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก  เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของพื้นที่และทำเลต่างๆ เมื่อการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งแล้วเสร็จ  เมื่อการก่อสร้างโครงการ Mix used ต่าง ๆ ของภาคเอกชนเสร็จสมบูรณ์

 

ตลาดกลุ่มผู้รับเหมางานภาครัฐเบ่งบาน

เมื่อแบ่งงานก่อสร้างในประเทศตามผู้ว่าจ้างเป็น  2 กลุ่มใหญ่คือ

งานก่อสร้างภาครัฐมีสัดส่วนร้อยละ 53 ของมูลค่างานก่อสร้างทั้งหมด (ร้อยละ 53 ของร้อยละ 8.1 ของจีดีพี. ดังนั้นเท่ากับร้อยละ 4.29 ของจีดีพี หมายความว่ามูลค่างานก่อสร้างภาครัฐมีสัดส่วนร้อยละ 4.29 ของจีดีพี)

งานก่อสร้างของภาคเอกชนมีสัดส่วนร้อยละ 47 ของมูลค่างานก่อสร้างทั้งหมด (ร้อยละ 47 ของร้อยละ 8.1 ของจีดีพี. ดังนั้นเท่ากับร้อยละ 3.80 ของจีดีพี หมายความว่ามูลค่างานก่อสร้างภาครัฐมีสัดส่วนร้อยละ 3.80  ของจีดีพี)

ประเทศไทยอยู่ในช่วงเวลาที่ต้องเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างทั่วด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง  เพื่อรองรับจังหวะก้าวใหม่ทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ  ที่สำคัญคือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับการก้าวให้ข้ามพ้นจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง  ขึ้นขั้นเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับสูง(ช่วงต้น)

ดังนั้นงานก่อสร้างของภาครัฐในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาและอีก 5 - 10 ข้างหน้า ส่วนใหญ่จึงเป็นการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในสัดส่วนที่มากถึงราวร้อยละ 80 ของมูลค่างานก่อสร้างภาครัฐทั้งหมด(กล่าวได้ว่าเป็นงานโยธา) ส่วนที่เหลือเป็นก่อสร้างอาคารของหน่วยงานรัฐต่างๆ (งานอาคาร)   ในกรณีงานโยธาที่เป็นงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ จึงต้องการบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่มีความพร้อมทั้งด้านเงินทุน มีศักยภาพทางการเงินเพียงพอ  มีบุคลากรที่เหมาะสม มีความพร้อมด้านประสบการณ์ ความชำนาญเฉพาะด้านในหลายๆ เรื่อง  การเป็นพันธมิตรกับบริษัทต่างประเทศที่เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

โอกาสหลักจึงเป็นของบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่  อันเป็นเรื่องปกติ  เป็นธรรมชาติของการแข่งขัน  ส่วนผู้รับเหมาขนาดกลางและกลุ่มผู้รับเหมา SMEs สามารถแสวงหาโอกาสได้จากการเป็นพันธมิตรกับผู้รับเหมารายใหญ่ และทำงานภาครัฐในลักษณะของผู้รับเหมาช่วง (Sub-contractors)

กล่าวสรุปสั้นๆ คือ ช่วง  5 ปีที่ผ่านมาและในอนาคตราวหนึ่งทศวรรษข้างหน้าเป็นยุคทองของกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างงานโยธาที่ทำงานกับภาครัฐ

 

รับเหมาเอกชน งานสร้างที่อยู่อาศัย

“วิจัยกรุงศรี”   ระบุว่างานก่อสร้างของภาคเอกชนส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างที่อยู่อาศัยเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 56 ของมูลค่างานก่อสร้างงานภาคเอกชนทั้งหมด

สัดส่วนที่รองลงมาเป็นโรงงานอุตสาหกรรมร้อยละ 10  พาณิชยกรรมร้อยละ 10% และอื่นๆ อีกร้อยละ  24 เช่น  โรงแรม และโรงพยาบาล (NESDC, 2018)

งานก่อสร้างเอกชนมีมากหรือน้อยนั้นผันแปรตามความเชื่อมั่นในการลงทุนหลายปัจจัยเช่น  สภาวะเศรษฐกิจ เสถียรภาพการเมือง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ

มองภาพรวมแล้วกลุ่มผู้รับเหมารายใหญ่ที่เน้นการรับงานก่อสร้างภาคเอกชนมีอัตรากำไร (Margin) มากกว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่เน้นการรับเหมาก่อสร้างงานภาครัฐ

แต่เมื่อดูจากขนาดของโครงการความมากน้อยของมูลค่าโครงการแล้ว โครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐส่วนมากแล้วมีมูลค่าสูงกว่าโครงการขนาดใหญ่ของภาคเอกชน

สำหรับผู้รับเหมา SMEs  ที่รับงานก่อสร้างภาคเอกชนนั้น ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มูลค่าการก่อสร้างไม่สูงมาก มีขั้นตอนการก่อสร้างไม่ซับซ้อน  สอดคล้องกับศักยภาพของกิจการรับเหมาขนาดกลางลงมา

นานาธุรกิจล้วนถิ่นปลาใหญ่

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าปี 2561 ระบุว่าในประเทศไทยมีธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประมาณ 80,000 ราย  ในจำนวนดังกล่าวเมื่อจัดแบ่งตามขนาดรายได้สามารถแบ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ราว 55 ราย แต่มีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 50 %จากมูลค่าตลาดรวม

ผู้ประกอบการรายใหญ่ 3 อันดับแรกได้แก่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดิเวลอปเมนต์  บมจ.ช.การช่าง และบมจ. ชิโน- ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ทั้งสามบริษัทดังกล่าวมีส่วนแบ่งตลาดรวม 24% ของกลุ่มธุรกิจ แต่ได้ส่วนแบ่งตลาดมากถึง 63% ของกลุ่มบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Bloomberg, 2018)

จากสถานการณ์ที่งานก่อสร้างภาครัฐ-งานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่เป็นพลังนำอุตสาหกรรมก่อสร้าง  ดังนั้นผู้ประกอบการรายใหญ่จึงดำรงอยู่ในสถานะครองตลาดส่วนใหญ่อีกต่อไป ดังมีข้อมูลจาก “วิจัยกรุงศรี” ประกอบ

อนาคตอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง

“วิจัยกรุงศรี” ประเมินว่ามูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมปี 2562 ปี 2563  และปี 2564 จะเติบโต 3.5-5.0%, 5-7% และ 7.5-9.5% เปรียบเทียบปีต่อปี (YoY) ตามลำดับ อีกทั้งมีโอกาสที่งานก่อสร้างภาครัฐขยายตัวเร่งขึ้น หลังจากการจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่  งานส่วนใหญ่ยังเป็นงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น

1.โครงการในกรุงเทพฯปริมณฑล ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ  รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์

2. โครงการใน EEC อาทิ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน อู่ตะเภา สุวรรณภูมิ ดอนเมือง โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3

และ 3.โครงการในจังหวัดหลัก เช่น  เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา ภูเก็ต และพิษณุโลก เช่น รถไฟฟ้ารางเบา  การขยายสนามบิน รวมทั้งการลงทุนในโครงการขนาดกลางขนาดย่อมตามงบประมาณประจำปี ส่วนใหญ่เป็นงานขยายและปรับปรุงโครงข่ายถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท

ส่วนงานก่อสร้างภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวและเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจและแรงเหนี่ยวนำสนับสนุนที่มาจากผลของการลงทุนก่อสร้างภาครัฐ (Crowding in effects)

อุปสรรคปัญหาที่ต้องเผชิญหน้า-แก้ไข

ปัญหาที่คู่กับอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างมาตลอดคือ เมื่อมีงาน ราคาวัสดุก่อสร้าง(ร้อยละ 60 ของต้นทุนรวม) มักปรับตัวสูงขึ้น  และแรงงาน (ร้อยละ 20 ของต้นทุนรวม) มักไม่เพียงพอ การขยายตัวของอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างในช่วง 3  ปีข้างหน้าก็เป็นลักษณะดังกล่าว

“วิจัยกรุงศรี” ประเมินว่า วัสดุก่อสร้าง ราคาโดยรวมจะทรงตัวในปี 2562 จากนั้นทยอยปรับขึ้นในช่วงปี 253-2564 ตามความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น แบ่งเป็น กลุ่มปูนซิเมนต์ มีแนวโน้มปรับราคาเพิ่มขึ้น 1-2% ต่อปี สาเหตุสำคัญมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามโครงการภาครัฐและภาคเอกชนที่มีการลงทุนพร้อมกันหลายโครงการ

แต่สินค้ากลุ่มเหล็กก่อสร้างที่ปัจจุบันยังมีทิศทางราคาอยู่ในขาดลงระหว่าง -1.5 % ถึง -3.5% ในช่วงปี 2562-2563 อันเป็นผลต่อเนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลก  กดดันให้ราคาเหล็กในไทยปรับราคาลดลงตาม จากนั้นราคาอาจเพิ่มขึ้น 2-4 % ในปี 2564 เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กก่อสร้างประเทศเพิ่มมากขึ้นจากงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า  รถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งการที่ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนให้ใช้เหล็กก่อสร้างในประเทศมากขึ้น

ปัญหาด้านแรงงาน  เรื่องแรงงานที่ไม่เพียงพอนั้นมักกระทบกลุ่มผู้รับเหมารายกลางและรายย่อย เนื่องจากกลุ่มนี้ยังใช้แรงงานก่อสร้างเป็นหลัก  ขณะที่ผู้รับเหมาขนาดใหญ่ใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างใหม่ที่ลดกำลังแรงงาน  อีกทั้งใช้นโยบายจ้างแรงงาน (พื้นฐาน)เหมือนเป็นพนักงานประจำที่มีเงินเดือนมีรายได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ได้ขึ้นกับการไปทำงานที่ไซต์งานก่อสร้าง  นอกจากนี้แรงงานพื้นฐานอาจไม่เพียงพอในปริมาณที่เพิ่มขึ้น เพราะความเข้มงวดเกี่ยวกับการจ้างแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน แรงงานมีจุดที่ไม่เพียงพอเรื่องจำนวน  ส่วนเรื่องอัตราค่าจ้างนั้นยังไม่เป็นปัญหาต่อต้นทุนการก่อสร้าง โดยเฉพาะแรงงานฝีมือที่มีอัตราจ้างตามอันดับความสามารถอยู่แล้ว (มีทั้งการประเมินจากผู้ว่าจ้าง และการได้รับใบรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง)

กล่าวโดยสรุปหลังจากตั้งคณะรัฐบาลใหม่เรียบร้อยแล้ว  อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างมีโอกาสขยายตัวในอัตราเร่ง  ตอบสนองความจำเป็น ความต้องการทางเศรษฐกิจที่ต้องเร่งการพัฒนาทางกายภาพของประเทศในทำเลต่างๆ อีกด้านหนึ่งงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ให้แล้วเสร็จ  สามารถเป็นพลังสนับสนุนทางการเมืองให้รัฐบาลใหม่ได้อย่างดี

#