รถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน ความมั่นคงสถานะไทยศูนย์กลางอาเซียน
  • 3 กรกฎาคม 2019 at 19:01
  • 1631
  • 0

ความรวดเร็ว แม่นยำ  ทั้งด้านกายภาพการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า รวมไปถึงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายการชำระเงินหรือการตอบแทนรูปแบบอื่นๆ  เป็นองค์รวมโดยสังเขปองระบบโลจิสติกส์ที่ดี  “ขนส่ง-จัดเก็บ-กระจาย”  ทั้งทางกายภาพและทางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

รถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นการยกระดับพัฒนาระบบโลจิสติกส์อย่างหนึ่งที่หลายประเทศมุ่งมั่นพัฒนาทั้งการเชื่อมโยงเมืองสำคัญในประเทศ และเชื่อมโยงระหว่างประเทศ

ประเทศไทยที่มีสภาพภูมิศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์เป็นศูนย์กลางกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนารถไฟความเร็วสูง  รวมทั้งพัฒนาด้านต่างๆ  ที่เกี่ยวข้อง  เพื่อความมั่นคงของการเป็นศูนย์กลางอาเซียน และความมีเสถียรภาพของประโยชน์ต่างๆ ทางเศรษฐกิจ  การเมือง สังคมและวัฒนธรรมอีกมากหลาย

ความคืบหน้าแต่ละช่วงตอนของการสร้างรถไฟความเร็งสูงไทย-จีนจึงมีความสำคัญต้องติดตาม

 

สร้างความแน่นอนทางงบประมาณ

เงินลงทุนที่แน่นอนนั้นจำเป็นในทุกเรื่อง  สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน มีความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับการเตรียมเงินงบประมาณคือ มติคณะรัฐมนตรีวันที่  2  กรกฎาคม 2562 เรื่อง ขออนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น  และขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ  รายจ่ายประจำปีงบประมาณ  เพื่อดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียดงานโยธาโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน  ในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อการเชื่อมโยงภูมิภาค  ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย  ระยะที่ 2  (ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบกลาง  รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียดงานโยธาโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน  ในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อการเชื่อมโยงภูมิภาค  ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย  ระยะที่ 2  (ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย) ระยะเวลาดำเนินการ 19 เดือน ในวงเงิน 751,624,800 บาท  ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 งบกลาง  รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 112,743,700 บาท ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สำหรับส่วนที่เหลือจำนวน 638,881,100 บาท อนุมัติให้ รฟท. ก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2564 ตามแผนการเบิกจ่ายต่อไป  โดยให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณประจำปีให้ รฟท. ตามขั้นตอนต่อไป

2. อนุมัติให้ รฟท. ได้รับการยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 (เรื่อง  การปรับปรุงแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณและมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง) สำหรับการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาในครั้งนี้  เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับสัดส่วนการได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในปีแรก  ที่กำหนดไว้ว่าต้องได้รับการจัดสรรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของวงเงินรายจ่ายส่วนที่เป็นงบประมาณทั้งสิ้น

สำหรับงบประมาณที่จะนำมาใช้ดำเนินโครงการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่ กค. ได้อนุมัติให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีถึงวันทำการสุดท้ายของเดือนกันยายน 2562 แล้ว  โดยให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ  เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป และให้ รฟท. ขอทำความตกลงในรายละเอียดกับ สงป. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบความเหมาะสมของราคาก่อนทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของ สงป.

 

ข้อมูลเสริม

สรุปจากภาษาในเอกสาร “สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 2 กรกฎาคม 2562”  ผ่านการแถลงข่าวของพล.ต.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 751.62 ล้านบาท เพื่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาออกแบบรายละเอียดงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อการเชื่อมโยงภูมิภาค (รถไฟไทย-จีน) ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 2 (ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย)

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมรายงานครม.ว่า ตามที่ไทยและจีนได้มีความร่วมมือกันการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เพื่อการเชื่อมโยงภูมิภาคโดยเป็นความร่วมมือระหว่างปี 2558-2565 ซึ่งในการประชุมครั้งที่ 26 ร่วมกันระหว่างคณะกรรมการเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ได้หารือเรื่องการก่อสร้างโครงการในระยะที่ 2 (ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) โดยฝ่ายไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบการออกแบบรายละเอียดงานโยธา และทั้ง 2 ฝ่ายจะพิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินการของโครงการร่วมกันในระยะต่อไป

กรอบการศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อการเชื่อมโยงภูมิภาคระยะที่ 2 ใช้ระยะเวลา 19 เดือนตั้งแต่เดือนส.ค. 2562 จนถึงขั้นตอนการสำรวจอสังหาริมทรัพย์หลังออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่เดือน ม.ค. 2564 วงเงินงบประมาณ 751.62 ล้านบาท ที่อนุมัติจากงบกลางฯ ให้รฟท. ไปดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาแบ่งเป็นงบกลางฯปี 2561 ที่กันไว้เบิกจ่ายในปี 2562 วงเงิน 112.24 ล้านบาท ส่วนที่เหลือวงเงิน 638.88 ล้านบาท ให้ใช้งบกลางฯผูกพันจากปีงบประมาณ 2563-2564 ต่อไป

รายละเอียดของค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษาในโครงการนี้ประกอบไปด้วย 1. ค่าตอบแทนบุคลากร 506.92 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าตอบแทนบุคลากรหลัก 420.18 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรสนับสนุน 86.74 ล้านบาท และ 2. ค่าใช้จ่ายตรง แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในสำนักงาน 33.71 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายงานสำรวจ ทดสอบ และค่าใช้จ่ายตรงอื่นๆ 161.81 ล้านบาท และ 3. ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% 49.1 ล้านบาท

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

ความคืบหน้าด้านการเตรียมประมูลใน “โครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน”  นั้นล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ประกาศร่าง TOR การประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) จำนวน 6 สัญญา ระยะทาง 77 กม. วงเงินรวม 54,975 ล้านบาท ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)   และกำหนดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 24 -28 มิถุนายน 2562

TOR  จำนวน 6 สัญญามีดังนี้

สัญญาที่ 3-2 งานโยธาสำหรับงานอุโมงค์ (มวกเหล็กและลำตะคอง) ระยะทาง 12.23 กิโลเมตร ประกอบด้วย อุโมงค์ทางวิ่งรถไฟ ระยะทาง 8 กม. คันทางรถไฟระดับดิน 3.27 กม. โครงสร้างทางรถไฟยกระดับ 0.96 กม. งานอาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับงานระบบรถไฟ 4 แห่งรวมถนนต่อเชื่อม งานระบบระบายน้ำ งานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ราคากลาง 5,359.16 ล้านบาท

สัญญาที่ 3-3 งานโยธาสำหรับ ช่วงบันไดม้า – ลำตะคอง ระยะทาง 26.10 กิโลเมตร ประกอบด้วย งานก่อสร้างโครงสร้างทางรถไฟระดับดิน 1.15 กม. โครงสร้างทางรถไฟยกระดับ 24.95 กม. งานอาคารสถานี 1 แห่ง และสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณย่านสถานี อาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับงานระบบรถไฟฟ้าตามแนวรถไฟ 3 แห่ง รวมถนนต่อเชื่อม งานรื้อย้ายรางเดิม งานรื้อย้ายอาคารในสถานีเดิม งานก่อสร้างถนน งานระบบระบายน้ำงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ราคากลาง 12,043.41 ล้านบาท

สัญญาที่ 3-5 งานโยธาสำหรับ ช่วงโคกกรวด - นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กิโลเมตร ประกอบด้วย งานก่อสร้างโครงสร้างทางรถไฟระดับดิน 7.85 กม. โครงสร้างทางรถไฟยกระดับ 4.53 กม. งานอาคารสถานี 1 แห่ง และสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณย่านสถานี อาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับงานระบบรถไฟฟ้าตามแนวรถไฟ 2 แห่ง รวมถนนต่อเชื่อม งานรื้อย้ายอาคารและปรับปรุงสถานีเดิม งานปรับปรุงรื้อย้ายถนนเดิม งานระบบระบายน้ำงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ราคากลาง 9,257.37 ล้านบาท

สัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ประกอบด้วย ทางรถไฟระดับพื้นในศูนย์ซ่อมบำรุง งานอาคารระบบซ่อมบำรุงขบวนรถไฟ 19 อาคาร อาคารควบคุมระบบการจัดการเดินรถและฝึกอบรม 4 อาคาร อาคารสำหรับระบบซ่อมบำรุงทาง 8 อาคาร งานก่อสร้างถนน งานระบบระบายน้ำงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ราคากลาง 6,093.04 ล้านบาท

สัญญาที่ 4-5 งานโยธาสำหรับ ช่วงบ้านโพ - พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กิโลเมตร ประกอบด้วย งานก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ 13.3 กม. งานอาคารสถานี 1 แห่ง และสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณย่านสถานี งานอาคารที่ทำการและบ้านพักพนักงาน 15 อาคาร อาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับ ระบบรถไฟตามแนวทางรถไฟ5 แห่ง รวมถนนต่อเชื่อม งานรื้อย้ายราง งานรื้อย้ายระบบอาณัติสัญญา งานก่อสร้างถนน งานระบบระบายน้ำงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ราคากลาง 11,801.22 ล้านบาท

สัญญาที่ 4-7 งานโยธาสำหรับ ช่วงสระบุรี - แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กิโลเมตร ประกอบด้วยงานก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ 12.99 กม. งานอาคารสถานี 1 แห่ง และสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณย่านสถานี งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงทาง 1 แห่ง อาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับ ระบบรถไฟตามแนวทางรถไฟ 1 แห่ง รวมถนนต่อเชื่อม งานรื้อย้ายอาคารและปรับปรุงสถานีเดิม งานรื้อย้ายรางเดิม งานปรับปรุงย้ายถนนเดิม งานระบบระบายน้ำงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ราคากลาง 10,421.01 ล้านบาท

สำหรับช่วง บางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทางกว่า 10 กม. รฟท.จะชะลอการประมูลไว้ก่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่ กับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งต้องรอความชัดเจนการหารือแผนการก่อสร้างของกลุ่มซี.พี.

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีเงินงบประมาณในการจ้างที่ปรึกษามาเพื่อตระเตรียม TOR  และการดำเนินงานขั้นต่อเนื่องต่างๆ

#