หนี้ครัวเรือนเพิ่ม คนมีงานทำลดลง
  • 9 กันยายน 2019 at 22:33
  • 1322
  • 0

 หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น  ผู้มีงานทำลดลง เป็นปมสำคัญของภาวะสังคมไทยไตรมาสสองปี 2562

ข้อมูลพื้นฐานที่น่าสนใจ  นอกจากข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจแล้ว  ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับภาวะสังคมไทยก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน  สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีข้อมูลนี้  โดยได้เผยแพร่ล่าสุดในหัวข้อ “ภาวะสังคมไทยไตรมาสสองปี  2562

สาระสำคัญของความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญได้แก่ รายได้และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น การเกิดอุบัติเหตุทางบกลดลง แต่มีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ การจ้างงานลดลง หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ขยายตัว ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินลดลงโดยพิจารณาจากคดีอาญาที่เพิ่มขึ้น

ประเด็นอื่นที่น่าสนใจคือข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ ได้แก่ คนไทยอ่านและใช้เวลาอ่านเพิ่มขึ้น แต่เด็กวัยเรียนยังมีปัญหาอ่านไม่ออกและขาดทักษะด้านการอ่าน การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นกับโอกาสทางการศึกษา

เรื่องที่น่ายินดีคือประเทศไทยได้รับการจัดอันดับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เป็น “Tier 2” เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

 

ผู้มีงานทำลดลงร้อยละ 0.3

ไตรมาสสองปี 2562 มีผู้มีงานทำ 37.8 ล้านคน ลดลงร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผู้มีงานโดยผู้มีงานทำภาคเกษตรยังลดลงต่อเนื่องร้อยละ 4.0  สาเหตุสำคัญมาจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย และปริมาณน้ำ ไม่เพียงพอต่อกิจกรรมการเกษตร ขณะที่ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5

สาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นได้แก่สาขาการขนส่งการเก็บสินค้า การก่อสร้าง การศึกษา และสาขาโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2   6.2   3.1 และ 1.1 ตามลำดับ

สาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ สาขาการค้าส่ง/ค้าปลีก และสาขาการผลิตลดลงร้อยละ 0.4 และ 0.5 ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับการส่งออกที่หดตัว

สรุปอัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.98 เพิ่มขึ้นใกล้เคียงอัตราร้อยละ 0.92 ในไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 1.07 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 โดยในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ขณะที่นอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ผลิตภาพแรงงานโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6

 

ผลต่อเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจตามการหดตัวของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวอาจส่งผลต่อการจ้างงานในระยะต่อไป การส่งออกที่หดตัวลงในช่วงครึ่งแรกของปี สาขาที่มีการส่งออกหดตัวมาก ได้แก่ สินค้าเกษตร เช่น ข้าว  ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล สินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน รถยนต์นั่ง เครื่องจักรอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ ปัจจัยดังกล่าวคาดว่าจะกระทบต่อแรงงานรวมประมาณ 5.1 ล้านคน ขณะเดียวกันจำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวลงอาจจะส่งผลต่อแรงงานในภาคบริการ และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในการออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ได้แก่ มาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และการพักชำระหนี้กองทุนหมู่บ้าน และมาตรการอื่นๆ เพื่อกระตุ้นการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ

ความเคลื่อนไหวทางสังคมที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งคือ การเตรียมความพร้อมรองรับธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น การบริการจัดส่งสินค้าด่วนถึงที่ อาทิ Lineman, Grab, Foodpanda, Get, และ Skootar  บริการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้าซึ่งมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในไตรมาสที่สองนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.2 และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นอีกตามการเติบโตของธุรกิจ "อีคอมเมิร์ซ"  ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องมีการทบทวนกฎระเบียบ เพื่อให้ครอบคลุมการจ้างทำงานในประเภทใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น วิธีการทำงานแบบใหม่ และเชื่อมโยงถึงการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้แรงงงานภายใต้การจ้างงานที่ผ่าน platform ออนไลน์ ได้รับการคุ้มครองเหมือนแรงงานทั่วไป และรวมถึงผู้บริโภคที่ใช้บริการการค้าออนไลน์ได้รับบริการที่มีมาตรฐาน และไม่ถูกหลอกลวง 

หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ไตรมาสหนึ่งปี 2562 หนี้สินครัวเรือนยอดรวม 13.0 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 6.3 คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP เท่ากับร้อยละ 78.7 สูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2560 หนี้ครัวเรือนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 เป็นต้นมา สำหรับไตรมาสสองปี 2562 แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือนต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะภาพรวมสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นในระดับสูงร้อยละ 9.2   ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 11.3 สูงสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ไตรมาสสี่ปี 2558 เป็นต้นมา ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 7.8 และร้อยละ 10.2 ชะลอลงจากร้อยละ 9.1 และร้อยละ 11.4 ในไตรมาสก่อน ตามลำดับ

ในภาพรวมมีสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มสูงขึ้น โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคในไตรมาสสองปี 2562 มีมูลค่ำ 127,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.74 ต่อสินเชื่อรวม และร้อยละ 2.75 ต่อ NPLs รวม  ยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสินเชื่อรถยนต์และบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งร้อยละ 32.3 และร้อยละ 12.5 ตามลำดับ เช่นเดียวกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และสินเชื่อบัตรเครดิตที่มียอดค้างชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไปที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง

แนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในช่วงครึ่งหลังปี 2562 คาดว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรกเนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มลดลง และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยกู้ แต่ด้านคุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มที่จะด้อยคุณภาพมากขึ้น เนื่องจากในช่วงก่อนที่มีมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันปล่อยสินเชื่อในลักษณะที่ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การอนุมัติ ประกอบกับมีการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในวงเงินสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงทำให้ผู้กู้ได้เงินสดกลับมาใช้จ่ายมากขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐได้ดำเนินมาตรการในการกำกับดูแลการขยายตัวอย่ำงต่อเนื่อง ของหนี้สินครัวเรือน และสร้างโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับผู้มีรายได้น้อยไปพร้อมกัน โดย

(1) การกำกับดูแลการขยายตัวของสินเชื่อ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อหลายประเภทเพื่อให้ครอบคลุมการก่อหนี้ของครัวเรือน เช่น การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ รวมทั้งขับเคลื่อนแนวคิดในการดำเนินธุรกิจการเงินอย่างยั่งยืน ผ่านการให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลในระดับองค์กรและความหมายแบบกว้าง

และ (2) การสร้างโอกาส ในการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยการใช้กลไกจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) เพื่อให้ประชำชนหรือผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธนาคารพาณิชย์ในระบบปกติได้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ เช่น การส่งเสริมให้ธนาคารกรุงไทยเข้าสู่ตลาดหนี้นอกระบบมากขึ้น ได้แก่ พิโกไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ การปรับปรุงหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์ การประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันการเงินประชาชน พ.ศ. 2562

 

ใช้เวลาอ่านมากขึ้น  -- อ่านไม่เป็น

คนไทยอ่านและใช้เวลาอ่านเพิ่มขึ้น แต่เด็กวัยเรียนยังมีปัญหาอ่านไม่ออกและขาดทักษะด้านการอ่าน

ในปี 2561 คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปอ่านหนังสือและอ่านบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์คิดเป็นร้อยละ 78.8 หรือ 49.7 ล้านคน และใช้ระยะเวลาในการอ่านเฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน แม้โดยภาพรวมการอ่านของคนไทยดีขึ้นทั้งในแง่จำนวนคนอ่านและเวลาที่ใช้ในการอ่าน แต่ยังมีประเด็นที่ต้องเร่งแก้ไข ดังนี้

(1) ประชากร 13.7 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 21.2 ไม่อ่าน สะท้อนว่ากิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

(2) เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ประมาณ 1.1 ล้านคน หรือร้อยละ 24.8 ไม่ได้อ่าน เพราะถูกมองว่าเด็กเกินไป และ 1.45 แสนคน อ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียว ซึ่งจำเป็นต้องรณรงค์ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับพ่อแม่และสังคมให้มากขึ้น เนื่องจากการส่งเสริมการอ่านแก่เด็กที่เหมาะสมตามพัฒนาการจะช่วยสนับสนุนให้เด็กเล็กก่อนวัยเรียนมีโอกาสได้อ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น และการปล่อยให้เด็ก อยู่กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากเกินไปอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงหลายด้านโดยเฉพาะต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้

(3) เด็กวัยเรียนอายุ 6-14 ปี ประมาณ 5.1 แสนคน หรือร้อยละ 7.3 ยังมีปัญหาอ่านไม่ออกและอ่านไม่คล่อง สะท้อนให้เห็นว่าการจัดการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานยังมีปัญหาที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ทั้งในด้านหลักสูตร และวิธีการจัดการเรียนการสอน

และ (4) เด็กไทยยังขาดทักษะการอ่าน พิจารณาจากผลการประเมิน PISA 2000 จนถึง PISA 2015 พบว่าในกลุ่มนักเรียนอำยุ 15 ปียังมีปัญหาเรื่องทักษะการอ่าน โดยมีคะแนนเฉลี่ยที่ 409 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ และต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียด้วยกัน ทั้งนี้ มีนักเรียนประมาณครึ่งหนึ่งยังมีระดับการรู้เรื่องการอ่านไม่ถึงระดับพื้นฐานซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงในการที่จะศึกษาต่อและการเป็นแรงงานที่มีคุณค่ำของประเทศ และเกือบไม่มีนักเรียนที่มีทักษะการอ่านถึงระดับสูง

การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เป็น “Tier 2” เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ปี 2019 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศการจัดระดับประเทศต่างๆ ทั่วโลก 187 ประเทศ ประเทศไทยได้รับการจัดระดับอยู่ใน “Tier 2 ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐาน แต่พยายามแก้ไข” เช่นเดียวกับปี 2561 จากการแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มขึ้นของไทยในการดำเนินงานที่สำคัญ จริงจัง ป้องกัน และมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาแต่ยังไม่สามารถขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะที่ไทยยังคงต้องพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่สำคัญทั้งในด้านการดำเนินคดี ด้านการคุ้มครองและด้านการป้องกัน การดำเนินงานที่สำคัญที่ประเทศไทยแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มขึ้น อาทิ การกำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวด การคัดแยกและส่งต่อผู้เสียหายไปยังทีมสหวิชาชีพ การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยทุกคนให้เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

 

ประโยชน์ของข้อมูลพื้นฐานทางสังคมเพื่อประกอบการวางแผนบริหารจัดการธุรกิจรวมถึงชีวิตครอบครัวและชีวิตส่วนตัว  ขยายศักยภาพการพึ่งตนเองให้มากขึ้น

#