PM 2.5 ปัญหามลพิษระดับชาติ/ระดับโลก

 “ปัญหาใหญ่ประจำฤดูกาล”  หลักฐานเชิงประจักษ์คือปรากฏการณ์ต่อเนื่องมาหลายปีต่อเนื่อง  ตรงนี้หมายถึงปัญหามลภาวะ ความเป็นพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5  นั่นคืออันตรายจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน  เทียบเคียงเท่ากับขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ ความจิ๋วขนาดนี้ขนจมูกของมนุษย์ไม่สามารถกรองจับได้ จึงเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ทันที กระทั่งผ่านผนังเส้นเลือดเข้าสู่กระแสเลือด ไหลลามวนเวียนไปสู่อวัยวะอื่นๆ เกิดอันตรายจากตัวฝุ่น PM 2.5 และเภทภัยซ้ำซ้อนจากการที่ PM 2.5 เป็นพาหะนำสารอื่นเข้ามาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก และสารก่อมะเร็งอื่นๆ

อันตรายอันดับแรกคือมาจากตัวฝุ่น PM2.5 เองที่ระคายเคืองระบบทางเดินหายใจทั้งหมด ทำให้เจ็บคอในเบื้องต้น  เป็นหวัด ปอดบวม และโรคภัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ  อันตรายต่อมาคือมฤตยูจากสารโลหะหนักและสารก่อมะเร็งอื่นๆ  ที่เกาะติดมากับฝุ่น PM 2.5

สามัญชนทั่วไปย่อมรู้ว่า เมื่อรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยอันเนื่องมาจาก ฝุ่นPM 2.5 และความเสียหายอื่นๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ต้องหยุดงาน  หยุดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลผลิตนั้น  ผลรวมย่อมมากกว่าการป้องกัน แก้ไข และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หรือเหตุปัจจัยของฝุ่น PM 2.5

เพียงแต่ว่า น้ำหนักของผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นตกกับประชาชนกลุ่มไหน  และมีพลังในการ “ต่อรอง”  การบริหารจัดการ “กำลังทรัพย์โดยรวม”ของประเทศ เพื่อเลือกบริหารจัดการเรื่องไหนก่อนหลังอย่างไร

ในขั้นต้นเมื่อปัญหาเกิดขึ้นอย่าง “รุนแรง”  ในเขตกรุงเทพฯปริมณฑล ที่มี “เสียงดัง” การแก้ปัญหาจึงต้อง “ดัง” และได้ผล

 

ฝุ่นเป็นพิษ วาระแห่งชาติ

ข้อมูลจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 1  ตุลาคม  2562 เรื่อง แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ

2. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดกิจกรรม/โครงการและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ต่อไป

3. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 (เรื่องแนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี)

สาระสำคัญ

แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

 

1. กรอบแนวคิด

ใช้หลักการจัดการเชิงรุกที่เน้นการป้องกันผลกระทบล่วงหน้า โดยการสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง/พื้นที่ที่มีปัญหามลพิษ และคำนึงถึงกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยหรือสิ่งแวดล้อม

 

2. ตัวชี้วัด

1) จำนวนวันที่ปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้น

2) จำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ลดลง

3) จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ (ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ) ลดลง

 

3. มาตรการ ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่

1) มาตรการที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เป็นการควบคุมมลพิษในช่วงวิกฤตสถานการณ์ฝุ่นละออง เป็นการดำเนินงานในระยะเร่งด่วน เพื่อควบคุมพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่นละออง ได้แก่ 9 จังหวัดภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑลพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง (ประสบปัญหาหมอกควัน) พื้นที่หน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี และพื้นที่เสี่ยงปัญหาฝุ่นละอองอื่นๆ  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเผาในที่โล่ง เช่น จังหวัดขอนแก่น จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น โดยแนวทาง การดำเนินงานประกอบด้วย การทบทวน ประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และถอดบทเรียน เพื่อปรับปรุง แผนเผชิญเหตุ/แผนตอบโต้สถานการณ์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในช่วงเกิดวิกฤตสถานการณ์ โดยใช้กลไกการจัดการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ซึ่งมีกลไกการสั่งการตามปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ดังนี้

ระดับที่ 1 PM2.5 มีค่าไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หน่วยงานดำเนินภารกิจตามสภาวะปกติ

ระดับที่ 2   PM2.5 มีค่าระหว่าง 51-75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หน่วยงาน ดำเนินมาตรการให้เข้มงวดขึ้น

ระดับที่ 3 PM2.5 มีค่าระหว่าง 76-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมพื้นที่ ควบคุมแหล่งกำเนิดและกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษ

ระดับที่ 4 PM2.5 มีค่ามากกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เสนอให้จัดการประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอมาตรการต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ

 

2) มาตรการที่ 2 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) โดยมีแนวทางการดำเนินงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้

- ระยะสั้น (พ.ศ. 2562 – 2564)

(1) ควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะ โดยใช้มาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมให้มีการนำน้ำมันเชื้อเพลิงมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm มาจำหน่ายก่อนกฎหมายบังคับใช้ บังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ Euro 5 ภายในปี 2564 ควบคุมการนำรถยนต์ที่ใช้แล้ว ในต่างประเทศ (ใช้ส่วนตัว) เข้ามาในประเทศไทย ควบคุมการนำเข้าเครื่องยนต์เก่าใช้แล้ว (ทั้งรถและเรือ)ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่ประเทศไทยบังคับใช้อยู่ ณ เวลาที่นำเข้า และต้องมีอายุไม่เกิน 5 ปี ปรับปรุงมาตรฐานและวิธีการตรวจวัดการระบายมลพิษจากรถยนต์ ปรับลดอายุรถที่จะเข้ารับการตรวจสภาพรถประจำปีพัฒนา ระบบการตรวจสภาพรถยนต์ และพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลการตรวจสภาพใช้มาตรการจูงใจ/ส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซื้อทดแทนรถราชการด้วยรถยนต์ไฟฟ้า ศึกษาความเหมาะสมในการจำกัดอายุการใช้งานรถยนต์และระบบการจัดการซากรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งาน

(2) ควบคุมและลดมลพิษจากการเผาในที่โล่ง/ภาคการเกษตร โดยให้มีการใช้ประโยชน์เศษวัสดุการเกษตรเพื่อไม่ให้มีการเผา ส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชหรือไม้ยืนต้นอื่นทดแทนพืชเชิงเดี่ยว/พืชที่มีการเผาห้ามไม่ให้มีการเผาในที่โล่งป้องกันการเกิดไฟป่าและจัดการไฟป่า ใช้มาตรการทางสังคมกับผู้ลักลอบเผาป่า

(3) ควบคุมและลดมลพิษจากการก่อสร้างและผังเมือง โดยกำหนดกฎระเบียบ มาตรการและเกณฑ์ปฏิบัติในการควบคุมฝุ่นจากการก่อสร้าง กำหนดให้การจัดทำผังเมือง และการก่อสร้างต้องคำนึงถึงการแพร่กระจายของมลพิษ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง  รวมถึงการรณรงค์และสร้างแรงจูงใจให้องค์กรรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินโครงการและกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในการเพิ่มและการจัดการพื้นที่สีเขียว รวมถึงผลักดัน การก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

(4) ควบคุมและลดมลพิษจากอุตสาหกรรม โดยกำหนดมาตรฐาน      การระบายมลพิษทางอากาศในรูปของอัตราการระบาย (Loading) ตามศักยภาพการรองรับมลพิษของพื้นที่ให้ติดตั้งระบบตรวจสอบการระบายมลพิษทางอากาศแบบอัตโนมัติต่อเนื่องที่ปล่องของโรงงานอุตสาหกรรม จำพวก 3 เตาเผาเชื้อเพลิงและหม้อน้ำหรือแหล่งกำเนิดความร้อนที่มีขนาดตามที่กำหนด

(5) ควบคุมและลดมลพิษจากภาคครัวเรือน โดยสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดในครัวเรือน พัฒนาและส่งเสริมการใช้เตาหุงต้มและเตาปิ้งย่างปลอดมลพิษ พัฒนาและส่งเสริมการใช้เตาเผาอิฐและถ่านปลอดมลพิษ

-ระยะยาว (พ.ศ. 2565 – 2567)

(1) ควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะ โดยบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ Euro 6 ภายในปี 2565 บังคับใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ปรับปรุง/แก้ไขการเก็บภาษีรถยนต์ประจำปีสำหรับรถยนต์ใช้งาน ห้ามนำเข้าเครื่องยนต์ใช้แล้วทุกประเภท ควบคุมการระบายฝุ่นจากการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือและจากเรือสู่เรือ ควบคุมการระบายมลพิษทางอากาศจาก Non-road Engine

(2) ควบคุมและลดมลพิษจากการเผาในที่โล่ง โดยให้มีการใช้ประโยชน์เศษวัสดุการเกษตรเพื่อไม่ให้มีการเผา ห้ามไม่ให้มีการเผาในที่โล่งโดยเด็ดขาด ป้องกันการเกิดไฟป่าและจัดการไฟป่า ส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชหรือไม้ยืนต้นอื่นทดแทนพืชเชิงเดี่ยว/พืชที่มีการเผา ให้มีการพิจารณา การพัฒนาระบบหรือยกระดับโดยผนวกมิติด้านสิ่งแวดล้อมในกระบวนการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร สำหรับพืชที่มีการเผาให้มีความเข้มงวด ใช้มาตรการหรือกลไกทางเศรษฐศาสตร์และมาตรการทางสังคม ผลักดัน ให้เกิดแนวทางรับซื้อสินค้าจากเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานทางการเกษตร ไม่ให้มีอ้อยไฟไหม้ ร้อยละ 100 ในปี 2565 (มติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562)

(3) ควบคุมและลดมลพิษจากการก่อสร้างและผังเมือง โดยกำหนดกฎระเบียบ มาตรการและเกณฑ์ปฏิบัติในการควบคุมฝุ่นจากการก่อสร้าง กำหนดให้การจัดทำผังเมืองและการก่อสร้างต้องคำนึงถึงการแพร่กระจายของมลพิษ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง รวมถึงผลักดันการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

(4) ควบคุมและลดมลพิษจากอุตสาหกรรม โดยทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล ปรับปรุงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า

(5) ควบคุมและลดมลพิษจากภาคครัวเรือน โดยสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดในครัวเรือน พัฒนาและส่งเสริมการใช้เตาหุงต้มและเตาปิ้งย่างปลอดมลพิษ พัฒนาและส่งเสริมการใช้เตาเผาอิฐและถ่านปลอดมลพิษ

 

3) มาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ เป็นการพัฒนาระบบ เครื่องมือ กลไกการบริหารจัดการ การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ โดยมีแนวทางการดำเนินงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้

-ระยะสั้น (พ.ศ. 2562 - 2564)

(1) พัฒนาเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ โดยขยายเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศและให้ท้องถิ่นติดตามตรวจสอบในพื้นที่ของตนเอง รวมถึงพัฒนาศักยภาพของท้องถิ่นในการดำเนินการติดตามการตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่ที่รับผิดชอบ

(2) ทบทวน/ปรับปรุงกฎหมาย/มาตรฐาน/แนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศเฉลี่ยรายปี ตามเป้าหมายระยะที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) และปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมเรื่องกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act)

(3) ส่งเสริมการวิจัย/พัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการติดตามตรวจสอบ การตรวจวิเคราะห์ และนวัตกรรมเพื่อลดมลพิษทางอากาศ รวมถึงเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และถ่ายทอดองค์ความรู้

(4) การแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดน โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานตามรดแมปอาเซียนปลอดหมอกควันข้ามแดนและแผนปฏิบัติการเชียงราย 2017 เพื่อป้องกันมลพิษ  จากหมอกควันข้ามแดน การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศโดยใช้กลไก 3 ระดับ ได้แก่ ระดับอาเซียน  ระดับคณะกรรมการชายแดนภายใต้กลไกกระทรวงกลาโหม และระดับจังหวัดชายแดนคู่ขนาน รวมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดนจากการขนส่ง

(5) จัดทำบัญชีการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด

(6) พัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบเฝ้าระวังที่เป็นหนึ่งเดียว

(7) พัฒนาระบบคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง

 

-ระยะยาว (พ.ศ. 2565 - 2567)

(1) พัฒนาเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ

(2) ทบทวน/ปรับปรุงกฎหมาย/มาตรฐาน/แนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยพิจารณาความเหมาะสมการปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตามเป้าหมายที่ 3 ของ WHO

(3) ส่งเสริมการวิจัย/พัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการติดตามตรวจสอบ การตรวจวิเคราะห์ และนวัตกรรมเพื่อลดมลพิษทางอากาศ เช่น เครื่องมือการตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเซนเซอร์ เป็นต้น

(4) การแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดน โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโรดแมปอาเซียนปลอดหมอกควันข้ามแดน และข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามแดน

4. กลไกการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ให้มีการจัดตั้งศูนย์ดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในระดับจังหวัด โดยใช้กลไกการจัดการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการในช่วงเกิดวิกฤตสถานการณ์ฝุ่นละออง และใช้กลไกของหน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย ออกกฎระเบียบ/แนวทาง/ข้อบังคับในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง   รวมถึงใช้กลไกคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกลไกหลักร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

เพิ่มเติม

กทม.เตรียมสร้างหอฟอกอากาศ 24 แห่ง

กรุงเทพมหานคร เตรียมทุ่มงบกว่า 120 ล้านบาท ทำหอฟอกอากาศ 24 หอในพื้นที่จราจรหนาแน่นหรือมีประชาชนจำนวนมาก หวังบรรเทาสถานการณ์ฝุ่น PM2.5

นายชาตรี วัฒนเขจร ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร  จากการติดตามสภาพอากาศและประสานข้อมูลกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าหลังจากวันที่ 1 ตุลาคม 2562. สภาพอากาศจะดีขึ้น เพราะจะมีลมและฝนกระจายในพื้นที่ จะทำให้สภาพอากาศปิดคลี่คลายลง

"ระหว่างนี้ผู้ว่าฯ กทม.ได้สั่งการให้ ผอ.เขตทุกเขต ติดตามสภาพค่าฝุ่นละอองเพื่อแจ้งเตือนประชาชน และแก้ปัญหาประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งการระบายรถ การจราจร การก่อสร้างอาคารที่ทำให้เกิดฝุ่น และการห้ามเผาในพื้นที่โล่งแจ้ง เบื้องต้นสถานการณ์ยังไม่เข้าสู่ภาวะวิกฤติ เนื่องจากการตรวจสภาพอากาศพบว่า ยังไม่มีพื้นที่ใดที่ค่าฝุ่นละอองยังไม่สูงถึง 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร"

ส่วนที่มีบริษัทเอกชน คือ บริษัท มาสเตอร์คูล อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสนอการติดตั้งหอฟอกอากาศ ซึ่งเป็นนวัตกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 นั้น นายชาตรีเผยว่า เบื้องต้นจะติดตั้ง 1 เครื่องเร็ว ๆ นี้บริเวณใต้สถานี BTS สยาม ทางเข้าศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน โดยจะตรวจวัดปริมาณความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 ทั้งก่อนและหลังการติดตั้ง หากได้ผลดีจะขอความร่วมมือภาคเอกชนโดยเฉพาะอาคารสูง, ห้างสรรพสินค้า และสถานที่จัดงานขนาดใหญ่ติดตั้งต่อไป

สำหรับหอฟอกอากาศ มีขนาดสูงประมาณ 4 เมตร กว้าง 1.5 เมตร ตัวเครื่องทําจากสเตนเลส หนักประมาณ 200 กก. ระบบการทำงานจะใช้หลักการดึงอากาศจากรอบตัวเครื่อง  เพื่อกรองฝุ่น 2 ขั้นตอน  และปล่อยอากาศบริสุทธิ์ทางด้านบน ซึ่งมีอัตราการสร้างอากาศบริสุทธิ์ไม่น้อยกว่า 17,000 ลบ.ม./ชม. ครอบคลุมพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1,000 ตร.ม. โดยใช้แผ่นกรองชนิด HEPA Filter และกำลังไฟฟ้า 3.5 kW ราคาประมาณ 5.3 ล้านบาทต่อเครื่อง ทั้งนี้กรุงเทพมหานคร เตรียมทุ่มงบกว่า 120 ล้านบาท ทำหอฟอกอากาศ 24 หอในพื้นที่จราจรหนาแน่นหรือมีประชาชนจำนวนมาก หวังบรรเทาสถานการณ์ฝุ่น PM2.5

อนึ่งประชาชนสามารถติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร แบบ Real Time ได้ที่ www.bangkokairquality.com  www.air4bangkok.com  Facebook : กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และแอปพลิเคชัน “กทม. Connect”.

 

ปตท โออาร์.เร่งขยายบริการดีเซล บี 10 จาก 70 แห่งเป็น 200 แห่ง

“ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก” เร่งขยายจำนวนสถานีบริการที่มีดีเซล บี10 จำหน่าย 200 แห่งทั่วประเทศในปีนี้ และเร่งเตรียมความพร้อมให้สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ทุกแห่งสามารถจำหน่ายบี10 ในวันที่ 1 มีนาคม 2563

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (โออาร์) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล บี10 เป็นหนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 นั้น โออาร์พร้อมรับนโยบาย เร่งผลักดันการขยายสถานีบริการพีทีที สเตชั่น ที่มีน้ำมันดีเซล บี10 จำหน่าย โดยจะมีสถานีบริการพีทีที สเตชั่นที่จำหน่ายน้ำมันพีทีที อัลตราฟอร์ซ ดีเซล บี10 จำนวน 70 แห่งทั่วประเทศภายในเดือนตุลาคม 2562 และจะขยายเป็น 200 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2562 นี้

รวมทั้งเตรียมความพร้อมให้คลังน้ำมันขนาดใหญ่ของโออาร์ทั่วประเทศพร้อมจ่ายน้ำมันดีเซล บี10 ได้ครอบคลุมทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2563 เพื่อเป้าหมายการมีน้ำมันดีเซล บี10 จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศในวันที่ 1 มีนาคม 2563 ตามนโยบายของกระทรวงพลังงานที่จะส่งเสริมให้น้ำมันดีเซล บี10 เป็นน้ำมันดีเซลหลักของประเทศ

น้ำมัน พีทีที อัลตราฟอร์ซ ดีเซล บี10 เป็นน้ำมันดีเซลที่ผสมไบโอดีเซลที่มีคุณภาพและความบริสุทธิ์สูง ซึ่งได้รับการรับรองโดยสมาคมผู้ผลิตยานยนต์ญี่ปุ่น (JAMA) ช่วยให้เผาไหม้ได้สมบูรณ์ ช่วยลดควันดำได้ร้อยละ 42 และลดการปล่อยฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซลปกติ จึงช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยสารเติมแต่งสูตรพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นสารเพิ่มค่าซีเทน ช่วยให้เครื่องยนต์จุดระเบิดเร็ว เพิ่มกำลังของเครื่องยนต์ และสารทำความสะอาดหัวฉีด ป้องกันการอุดตันของหัวฉีด การสนับสนุนการใช้น้ำมันปาล์มดิบมาผลิตเป็นไบโอดีเซล บี100 และนำมาผสมเป็นน้ำมันดีเซล บี10 นี้ยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรไทยผู้ปลูกปาล์มได้โดยตรง นอกจากนี้ น้ำมันดีเซล บี10 ยังมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลธรรมดาลิตรละ 2 บาท จึงถือเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายน้ำมันของผู้ใช้รถอีกด้วย

นอกจากนี้ โออาร์ยังจัดกิจกรรมส่งเสริมให้เกิดการลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในศูนย์บริการยานยนต์ ฟิตออโต้ ให้บริการตรวจเช็กสภาพรถยนต์ฟรี 30 รายการ และลดราคาค่าล้างแอร์ ไส้กรองแอร์ และไส้กรองอากาศ โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 1365 Contact Center

***

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีมาตรการเพิ่มเติมที่ควบคุมงานก่อสร้างต่างๆ ในกรุงเทพฯปริมณฑล นอกเหนือจากกฎหมายที่มีอยู่แล้ว  อาทิ  การติดตั้งตาข่ายครอบคลุมตึก-อาคารที่ก่อสร้าง  การล้างทำความสะอาดล้อรถและตัวรถ(ถ้าจำเป็น)ทีวิ่งเข้า-ออกพื้นที่ก่อสร้าง

#