ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตทุกขนาดทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

เป็นที่รับรู้กันว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยนั้นใช้กำลังการผลิตแรกติดตั้งต่ำกว่าร้อยละ 50

1 ตุลาคม 2562  แม้ว่ามีการใช้เหล็กในประเทศไทยจำนวนมาก แต่เนื่องจากมีการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศในปริมาณที่มากเช่นกัน  จึงทำให้การซื้อขายเหล็กที่ผลิตในประเทศมีน้อยลง  ส่งผลให้การใช้กำลังการผลิตของโรงงานเหล็กในประเทศไทยต่ำมาก  เฉลี่ยรวมทั้งอุตสาหกรรมต่ำกว่าร้อยละ 50  อยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 กว่าเท่านั้น

มาตรการหนึ่งที่จำเป็นคือ การจำกัดการขยายตัวของซัพพลาย หมายถึงไม่ควรให้มีการตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตเพิ่ม  ในอีกด้านหนึ่งต้องหามาตรการสนับสนุนการใช้เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตที่ผลิตในประเทศ

 

กฎหมายระดับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม

ประกาศกระทรวงอาศัยอำนาจจากพระราชบัญญัติกรณีโรงงานเหล็ก อาศัยพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ขั้นตอนการออกประกาศกระทรวง ต้องผ่านมติครม. อนุมัติหลักร่างฯ  จากนั้นเข้าสู่กระบวนกลั่นกรองทางกฎหมาย มีหน่วยงานพิจารณาทั้งภายในกระทรวง และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง จากนั้นนำมาผ่านมติครม.อีกครั้งเพื่อให้เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงเรื่องนั้นๆ

ทั้งนี้เรื่องเกี่ยวกับการห้ามตั้งหรือขยายโรงงานเหล็กฯ มีความคืบหน้าจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 1 ตุลาคม  2562  เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ทุกขนาด ทุกท้องที่ ในราชอาณาจักร พ.ศ. ….

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ทุกขนาด ทุกท้องที่ ในราชอาณาจักร              พ.ศ. …. ที่คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างประกาศ

ประเด็น

รายละเอียด

1. บทนิยาม

- “เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต” หมายถึง เหล็กเส้นที่มีลักษณะหน้าตัดกลม หรือเหล็กเส้นกลมที่มีบั้งหรือครีบ ซึ่งอาจนำไปใช้เสริมคอนกรีตสำหรับงานก่อสร้างทั่วไปได้ 

- “เหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต” หมายถึง เหล็กแท่งเล็กสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีภาคตัดขวางเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือเหล็กแท่งเล็กสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีภาคตัดขวางรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีด้านยาวไม่เกิน 1.25 เท่าของด้านกว้าง โดยมีความยาวด้าน 50 มิลลิเมตร ถึง 150 มิลลิเมตร

2. กำหนดการห้ามตั้งหรือขยายโรงงาน

- กำหนดห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต หรือโรงงานผลิตเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ซึ่งรวมถึงโรงงานที่ใช้เครื่องจักรที่สามารถนำไปใช้รีดเหล็กเส้นได้ ทุกขนาด ทุกท้องที่ ทั่วราชอาณาจักร 

3. กำหนดข้อยกเว้น (โรงงานที่ไม่อยู่ในบังคับของประกาศฉบับนี้)

- ประกาศฉบับนี้มิให้ใช้บังคับกับ

   (1) โรงงานที่ผลิตเหล็กเพลา เหล็กลวดหรือเหล็กรูปพรรณที่ทำขึ้นด้วยกรรมวิธีรีดร้อน หรือลวดเหล็กที่ทำขึ้นด้วยกรรมวิธีการรีดเย็นที่ได้รับเอกสารการตรวจสอบกระบวนการผลิต เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ และลูกรีด จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

   (2) การขอตั้งหรือขยายโรงงานที่ได้ยื่นคำขอเกี่ยวกับการตั้งหรือขยายโรงงาน             ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน หรือกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แล้วแต่กรณี และได้รับความเห็นชอบรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม             ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลบังคับใช้

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

การห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตฯ นี้ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 มีมติอนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ทุกขนาดทุกท้องที่ในราชอาณาจักร ตามพ.ร.บ.โรงงานพ.ศ.2535 เป็นเวลา 5 ปี เพื่อให้ผู้ผลิตปรับตัวและเข้าสู่ภาวะสมดุล จากปัจจุบันผู้ผลิตในประเทศมีกำลังผลิตส่วนเกินสะสมจนทำให้หลายรายต้องหยุดกิจการ

ผู้ผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตในประเทศมีอัตรากำลังการผลิตทั้งหมด 9 ล้านตัน แต่ใช้กำลังผลิตเพียง 2-3 ล้านตัน หรือ 35-45% ทำให้ประสบภาวะขาดทุนและปิดกิจการ การกำหนดไม่ให้ใบอนุญาตกับโรงงานใหม่เป็นเวลา 5 ปี เพื่อให้ผู้ผลิตไทยปรับตัวเร่งพัฒนาเทคโนโลยี และจากนั้นจะมีการร่างประกาศมาตรฐานมลพิษโรงงานเหล็กทั้งหมดเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

รายละเอียดที่ต้องติดตามคือ ประกาศเรื่องนี้ประกาศใช้เมื่อไหร่  และมีการขออนุญาตตั้งหรือขยายโรงงานก่อสร้างประกาศห้ามตั้งหรือขยายโรงงานเหล็กเส้นฯ หรือไม่

ทั้งนี้เพื่อให้วัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศเกิดขึ้นจริง

#