มาตรฐานสถิติ มาตรฐานการสร้าง “บิ๊กดาต้า”?

เส้นทางสู่ความพร้อมเรื่องบิ๊กดาต้าทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง  สังคมและวัฒนธรรมนั้น  ไม่เพียงต้องมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการสื่อสารโทรคมนาคมอันรวดเร็วทั่วถึง แม่นยำรองรับ  มีอุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคมทันสมัย สมสมัยเพียงพอ   ความเข้าใจร่วมกัน ตรงกันก็สำคัญมาก  อย่างน้อยที่สุดภาครัฐก็พยายาม “เร่งสร้าง”  มาตรฐานสถิติให้เกิดขึ้น

มาตรฐานทางสถิติ จุดเริ่มต้นที่ต้องมี

มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 ตุลาคม 2562  เรื่อง ขอเสนอมาตรฐานสถิติเพื่อให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบมาตรฐานสถิติที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และประกาศใช้เป็นมาตรฐานในการผลิตสถิติ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐนำมาตรฐานดังกล่าวใช้เป็นแนวทางในการจัดทำข้อมูลสถิติของหน่วยงานต่อไป เพื่อให้ข้อมูลสถิติของประเทศสามารถแลกเปลี่ยน เชื่อมโยง และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่จัดทำขึ้นต่างช่วงเวลาและต่างแหล่งข้อมูลได้ร่วมกันสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจในการกำหนดนโยบายหรือตอบโจทย์ตัวชี้วัดต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม เกิดความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากรในการผลิตสถิติของประเทศ

2. ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐจัดทำสถิติให้เป็นไปตามแผนกำหนดความรับผิดชอบในการดำเนินงานทางสถิติตามแผนแม่บท1 และดำเนินการให้ถูกต้องตามมาตรฐานสถิติ

3. ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐจัดส่งข้อมูลการใช้มาตรฐานสถิติ รวมถึงรายละเอียดของข้อมูล (Metadata) ตามมาตรฐานที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กำหนด ทั้งข้อมูลระดับย่อย (Microdata)2 และข้อมูลสถิติ เพื่อให้ สสช. รวบรวมเป็นข้อมูลในการจัดทำศูนย์กลางรายการข้อมูลภาครัฐ (National Data Catalogue and Directory services) และเพื่อให้สามารถติดตามและประเมินสถานการณ์การพัฒนาสถิติของประเทศให้มีคุณภาพตามหลักการพื้นฐานสถิติทางการและสอดคล้องตามมาตรฐานสากล สามารถนำมาใช้สนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลร่วมกันได้อย่างคุ้มค่า

1 แผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2559 – 2564) ได้มีการกำหนดแผนปฏิบัติการต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบสถิติ และได้กำหนดผู้รับผิดชอบโครงการไว้ในบทที่ 6 แผนปฏิบัติการ

2 Metadata คือ ข้อมูลรายละเอียดที่อธิบายถึงความเป็นมาของข้อมูล เช่น ชื่อเรื่อง ชื่อผู้รับผิดชอบ ลักษณะของข้อมูล หน่วยของข้อมูล วันเดือนปีที่ปรับข้อมูล เป็นต้น ส่วน Microdata คือข้อมูลระดับย่อยหรือข้อมูลสถิติ เช่น อายุ เพศ ประเทศ สถานภาพการทำงาน หรืออุตสาหกรรม เป็นต้น

สาระสำคัญของเรื่อง

1. เนื่องจากการผลิตสถิติของแต่ละหน่วยงานในประเทศไทยยังคงมีความเหลื่อมล้ำด้านมาตรฐานและคุณภาพของข้อมูลสถิติ ทำให้ไม่สามารถใช้ข้อมูลหรือบูรณาการข้อมูลร่วมกันได้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) จึงได้นำเสนอ “มาตรฐานสถิติ” ซึ่งเป็นการกำหนดหรือแนวทางที่ตกลงร่วมกันในการเก็บรวบรวมข้อมูลและสารสนเทศขึ้นมา เพื่อใช้เป็นองค์ความรู้ในการจัดทำนโยบายและใช้ในการตัดสินใจเพื่อกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศ โดย ดศ. ได้นำเสนอมาตรฐานสถิติมาในครั้งนี้จำนวน 4 มาตรฐาน ได้แก่

(1) หลักการพื้นฐานสถิติทางการ โดยอ้างอิงตามมาตรฐาน Fundamental Principles of Official Statistics (FPOS) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) โดยในส่วนของประเทศไทยได้มีการถอด FPOS ออกเป็นหลักปฏิบัติการเพื่อจัดการคุณภาพสถิติทางการประเทศไทย (Thailand Statistics Code of Practice: TCoP) เพื่อให้เข้าใจง่ายในเชิงปฏิบัติ

(2) แนวทางการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานสถิติทางการซึ่งเทียบเคียงจากมาตรฐาน FPOS

(3) นโยบายด้านมาตรฐานสถิติในการผลิตสถิติทางการ เพื่อให้สามารถบูรณาการและใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งอ้างอิงจากหลักการที่ 9 ของ FPOS (ใช้มาตรฐานสากล) และหลักปฏิบัติข้อที่ 8 ของ TCoP (ความสอดคล้องและเปรียบเทียบกันได้)

และ (4) มาตรฐานการผลิตสถิติ โดยนำเสนอมาในครั้งนี้ 5 ตัวแปร (จากทั้งหมดประมาณ 30 ตัวแปร) ได้แก่ เพศ อายุ ประเทศ สถานภาพการทำงาน และอุตสาหกรรม

2. นอกจากนี้ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านการจัดทำระบบสถิติระบบเดิมเป็นระบบใหม่เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดศ. จึงได้จัดทำกระบวนการเปลี่ยนผ่านมาตรฐานสถิติ สรุปดังนี้

2.1 หากหน่วยงานยังไม่มีการจัดทำข้อมูล ยังไม่มีการจัดทำมาตรฐาน หรือมีมาตรฐานที่ไม่เหมาะสม ให้ปรับเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานตามที่ ดศ. เสนอในครั้งนี้ โดย สสช. จะเข้าไปร่วมพัฒนาและให้ความรู้ในเชิงวิชาการเพื่อให้มาปรับใช้ตามมาตรฐานที่เสนอนี้ โดยการเชื่อมโยงมาตรฐานเดิมและมาตรฐานใหม่เข้าด้วยกันด้วยวิธีใช้ตารางเปรียบเทียบ (Mapping) และทำการพยากรณ์แบบมองย้อนหลัง (Backcasting) เพื่อให้ได้ข้อมูลชุดใหม่ ซึ่งในขณะนี้ สสช. อยู่ระหว่างการพัฒนาคู่มือในการพยากรณ์แบบมองย้อนหลังดังกล่าว

2.2 หากหน่วยงานมีภารกิจการทำงานตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงานตนเอง และมีความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรฐานสถิติหรือมาตรฐานการผลิตสถิติเฉพาะด้าน (เช่น กรมศุลกากรจำเป็นต้องใช้มาตรฐานอัตราพิกัดอัตราศุลกากรที่อ้างอิงตาม Harmonized System) หน่วยงานสามารถพิจารณาเองได้ว่าจะใช้มาตรฐานเดิมหรือจะปรับมาใช้มาตรฐานใหม่ แต่หน่วยงานจะต้องทำตารางเปรียบเทียบเพื่อให้สามารถบูรณาการข้อมูลร่วมกันได้

2.3 ในกรณีที่หน่วยงานไม่สามารถใช้ตามมาตรฐานสถิติตามที่เสนอได้นั้น หน่วยงานจะต้องแสดงข้อมูลมาตรฐานที่ตัวเองใช้ไว้อย่างชัดเจนและต้องตั้งสถานะว่าข้อมูลของหน่วยงานไม่สามารถบูรณาการกับหน่วยงานอื่นได้

2.4 เมื่อหน่วยงานได้ทำการปรับมาตรฐานสถิติเป็นระบบใหม่แล้ว สสช. จะทำการประเมินคุณภาพสถิติทางการตามหลักการ TCoP ทั้งนี้ สสช. ได้จัดทำคู่มือการประเมินคุณภาพสถิติทางการไว้แล้วและจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสถัดไป

ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรฐานสถิติแล้ว สสช. จะร่วมมือกับ ดศ. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐในการส่งเสริมให้หน่วยงานต่าง ๆ ใช้มาตรฐานสถิติเพื่อความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการจัดทำศูนย์กลางรายการข้อมูลภาครัฐ

 

ข้อสังเกต

ความเข้าใจเกี่ยวกับ “บิ๊กดาต้า”  มีความจำเป็นต้องเผยแพร่ความรับรู้ ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ทั่วถึง กว้างขวาง อย่างน้อยที่สุดความเข้าใจร่วมกันของสังคมคือ เข้าใจเรื่องพื้นฐานของข้อมูล ข่าวสาร  ใคร ทำอะไร  ที่ไหน  อย่างไร  เมื่อไร  ทำไม ไม่ว่าข้อมูล ข่าวสาร มีจำนวนน้อยหรือจำนวนมาก ก็ต้องแยกแยะเรื่องเหล่านี้ได้ชัดเจน

ยิ่งข้อมูลมากยิ่งต้องชัดเจน  แน่นอนว่าต้องมีคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมที่เหมาะสมมาบริหารจัดการข้อมูล

ลำดับขั้นตอนที่ยกระดับสูงขึ้นคือ การจัดระบบสารสนเทศของข้อมูลจำนวนมาก  จำนวนมหาศาลให้มีความชัดเจนว่า  ความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นอย่างไร  ลำดับก่อนหลัง  ผลกระทบทางตรง ทางอ้อม  ผลกระทบย้อนกลับ

ขั้นตอนต่อมาคือ จากข้อมูล ข่าวสารจำนวนมหาศาล  และสารสนเทศที่เป็นเงื่อนไข และมีผลกระทบระหว่างกันนั้น  มีความรู้เรื่องใดบ้าง  และสามารถตั้งข้อสังเกต  สมมติฐานต่างๆ  เพื่อนำไปวิเคราะห์-สังเคราะห์ให้เกิดความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้น  ก่อรูปเป็นภูมิปัญญาที่เหมาะสมในแต่ละเรื่องราว  แต่ละสถานการณ์

“บิ๊กดาต้า” นั้นอมความ ครอบคลุม ขั้นตอน เรื่องราวต่างๆ ทั้งหมดดังกล่าว  มิใช่มีความหมายแค่ข้อมูลขนาดมหึมาตามความหมายของคำศัพท์ บิ๊กดาต้าเท่านั้น  เพราะ “บิ๊กดาต้า” เป็น Technical Term มิใช่การนำคำคุณศัพท์และคำนามมาไว้รวมกันเท่านั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น สำคัญที่จุดเริ่มต้นคือ มาตรฐานของข้อมูลข่าวสาร ทั้งด้านความถูกต้อง แม่นยำ ทันกาล  เพียงพอ  ระบบสารสนเทศที่ดี เหมาะสม

ความสำคัญต่อมา และมีนัยว่าสำคัญมากกว่าคือ  การตั้งประเด็นคำถาม  ข้อสังเกตต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า

เงื่อนไขที่จำเป็นอย่างยิ่งคือ  เสรีภาพในการรวบรวมข้อมูลข่าวสาร  เสรีภาพในการตีความ  การดูเรื่องสารสนเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างกัน  เสรีภาพในการขบคิด ตั้งคำถาม ข้อสังเกต รวมทั้งเสรีภาพในการศึกษาและนำบทเรียนจากอดีต บทเรียนจากต่างท้องถิ่น ต่างประเทศ มาประยุกต์ใช้

มาตรฐานจำเป็นต้องมี  แต่ต้องเปิดกว้างด้านเสรีภาพ  มาตรฐานที่มีนั้นต้องมีหลักวิชาการรองรับ  และเป็นมาตรฐานเพื่อส่งเสริมให้มีการคิดค้นสร้างสรรค์  มิใช่ “มาตรฐาน”  เพื่อปกปิด ซ่อนเร้น ครอบงำ

“บิ๊กดาต้า”  มีด้านหนึ่งที่เป็นเสมือนอาวุธ  ดังนั้นจึงยังประโยชน์มหาศาลให้กับผู้กุมอาวุธนี้

เปรียบเทียบให้เข้มข้นได้ว่า  ใครมีบิ๊กดาต้าย่อมเป็นฝายชนะ  ใครยึดครองอาวุธย่อมเป็นฝ่ายปกครอง

#