โครงการงบพันล้านบาทกระทรวงคมนาคม 46 โครงการ 1.79 แสนล้านบาท

ข้อมูลเบื้องต้นงบประมาณการลงทุนของกระทรวงคมนาคมจากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  พ.ศ. 2564 จากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ (21 มกราคม 2563)  เรื่อง ขออนุมัติตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ของกระทรวงคมนาคม

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ  ให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป  ของกระทรวงคมนาคม จำนวน 4 หน่วยงาน รวม 46 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2564 – 2567 วงเงินรวมทั้งสิ้น 179,671.1980 ล้านบาท โดยมีวงเงินที่จะขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 36,384.2000 ล้านบาท ประกอบด้วย

 1.กรมทางหลวง จำนวน 41 โครงการ วงเงินรวม 170,665 ล้านบาท (ปีงบประมาณ 2564 : 34,133 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 : 51,199.5000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2566 : 51,199.5000 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2567 : 34,133 ล้านบาท)

 2.กรมทางหลวงชนบท จำนวน 2 โครงการ  วงเงินรวม 3,151 ล้านบาท (ปีงบประมาณ 2564 : 630.2000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 : 1,260.4000 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2566: 1,260.4000 ล้านบาท) 

3.กรมท่าอากาศยาน จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 3,800 ล้านบาท (ปีงบประมาณ 2564 : 760 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 : 760 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2566 : 1,140 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2567 : 1,140 ล้านบาท)

 4.การรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 1 โครงการ วงเงินรวม 2,055.1980 ล้านบาท (ปีงบประมาณ 2564 : 861 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2565 :  1,194.1980 ล้านบาท)

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

ก่อนหน้านี้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ในปีงบประมาณ 2564 กระทรวงคมนาคมได้ทำคำของบประมาณไว้ที่ 514,535.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68,591.6895 ล้านบาทจากปีงบประมาณปี 2563ที่ทำคำขอไว้ที่ 445,943.4767 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15.38% แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 124,105.10 ล้านบาท คิดเป็น 24.12% ของงบประมาณทั้งหมด และงบลงทุน 390,430.06 ล้านบาท คิดเป็น 75.88% ของงบประมาณทั้งหมด

จำแนกตามสายงาน พบว่าโครงการคมนาคมทางบกทำคำขอมากที่สุดที่ 340,283.25 ล้านบาท คิดเป็น 66.13% ของงบประมาณทั้งหมด รองลงมาเป็นโครงการระบบราง 141,121.49 ล้านบาท คิดเป็น 27.43% , ทางอากาศ เป็นอันดับ 3 ขอไว้ที่ 18,859.90 ล้านบาท คิดเป็น 3.67%, ทางน้ำขอไว้ 12,597.60 ล้านบาท คิดเป็น 2.45% และด้านนโยบายขอไว้ 1,672.92 ล้านบาท คิดเป็น 0.33%

จำแนกตามหน่วยงานได้ดังนี้ หน่วยงานที่ทำคำของบประมาณเพิ่มสูงสุด

อันดับแรกคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)ทำคำของบประมาณปี 2564 ที่ 90,955.1850 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77,380.2898 ล้านบาท หรือคิดเป็น 570.02% จากที่ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ 2563 ที่ 13,574.8952 ล้านบาท  เนื่องจากมีรายการชำระหนี้ที่ครบกำหนดในปี 2564 หลายรายการรวมเป็นเงินจำนวน 37,369.82 ล้านบาท  และมีโครงการลงทุนที่ต้องดำเนินการในปี 2564 หลายโครงการ เข่น โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง 4 สาย ได้แก่ ช่วงรังสิต – ม.ธรรมศาสตร์ , ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา,  ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราชและ ช่วงช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก กับ ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 สาย ช่วงบ้านไผ่-นครพนม และช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ

อันดับที่สอง กรมท่าอากาศยาน (ทย.)  ทำคำของบประมาณปี 2564 ที่ 16,867.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,201.88 ล้านบาท หรือคิดเป็น 197.72% จากที่ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ 2563 ที่ 5,665.61 ล้านบาท เนื่องจากต้องขยายทางวิ่งในสนามบินตรังและนครศรีธรรมราช

อันดับที่สามกรมเจ้าท่า (จท.) ทำคำของบประมาณปี 2564 ที่ 12,597.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,226.62 ล้านบาท หรือคิดเป็น 188.21% จากที่ได้รับการจัดสรรในปีงบประมาณปี 2563 ที่ 4,370.99 ล้านบาท โดยงบที่เพิ่มขึ้นมาจากการศึกษาความเป็นไปได้โครงการท่าเรือสงขลา 2

 

#