ผ่อนผันพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เพื่อทำเหมืองแร่ / ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมก่อสร้าง

การผ่อนผันพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เพื่อทำเหมืองแร่ เป็นเรื่องที่ยังต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามความจำเป็นที่ต้องใช้หินเป็นส่วนประกอบของอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ล่าสุดมติครม.วันที่ 17 มีนาคม 2563 มีเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นดังต่อไปนี้

 

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี จังหวัดชุมพร

มติคณะรัฐมนตรีเรื่อง ขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่ของห้างหุ้นส่วนจำกัด เจริญผลการศิลา ที่จังหวัดชุมพร

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ตามคำขอประทานบัตรที่ 1/2559 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด เจริญผลการศิลา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2532 และวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างตามคำขอประทานบัตรที่ 1/2559 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด เจริญผลการศิลา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2532 และขอผ่อนผันการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 และวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ที่กำหนดให้โครงการที่จะขออนุมัติผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เพื่อการทำเหมือง การต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่ และการต่ออายุการอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้จะต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการในพื้นที่เดิมที่มีการทำเหมืองมาก่อน ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่แล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะได้ดำเนินการให้ครบถ้วนถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรต่อไป

2. พื้นที่คำขอประทานบัตรดังกล่าว มีเนื้อที่ทั้งหมด 204 – 2 – 10 ไร่ ทับพื้นที่ประทานบัตรเดิมที่ 28511/15271 ของห้างหุ้นส่วนฯ ซึ่งหมดอายุแล้วเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2562 และเป็นที่ป่าที่ได้ยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้แล้ว นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวไม่เป็นแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ ไม่เป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับการทำเหมืองตามระเบียบและกฎหมายของส่วนราชการต่าง ๆ รวมถึงเป็นพื้นที่ที่ถูกกำหนดไว้ในเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 – 2564 ด้วย การปิดประกาศการขอประทานบัตรไม่มีผู้ร้องเรียนคัดค้าน รวมทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลสะพลีได้แจ้งความเห็นชอบในการขอประทานบัตร และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านเหมืองแร่ ได้ให้ความเห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการแล้ว เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 และจากการประเมินพบว่าโครงการมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคมต่อท้องถิ่นและประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าความเสียหายจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่มีข้อขัดข้อง

 

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ กาญจนบุรี

มติครม. เรื่อง ขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อทำเหมืองแร่ของบริษัท เทพอุทิศธุรกิจ จำกัด ที่จังหวัดกาญจนบุรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อทำเหมืองแร่ โดโลไมต์ ตามคำขอประทานบัตรที่ 1/2553 ของบริษัท เทพอุทิศธุรกิจ จำกัด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่   15 พฤษภาคม 2533 และวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

บริษัท เทพอุทิศธุรกิจ จำกัด ได้ยื่นคำขอประทานบัตรที่ 1/2553 ชนิดแร่โดโลไมต์ ที่ตำบลปากแพรก อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 224 ไร่ 3 งาน 04 ตารางวา โดยขอทับพื้นที่บางส่วนของประทานบัตรที่ 22110/13577 ของบริษัทเทพอุทิศการแร่ จำกัด ชนิดแร่โดโลไมต์ และประทานบัตรที่ 22111/13578 ของนางชูศรี สมสมัย ชนิดแร่โดโลไมต์ และหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งเป็นการขอประทานบัตรทับในพื้นที่ประทานบัตรเดิมที่ครบกำหนดสิ้นอายุแล้วเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เห็นชอบการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำแปลงดังกล่าว โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด และให้ดำเนินการขออนุญาตให้ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก่อนเข้าดำเนินการในพื้นที่ ตลอดจนการปิดประกาศการขอประทานบัตรไม่มีผู้ร้องเรียนคัดค้าน สำนักงานเทศบาลตำบลปากแพรกเห็นชอบคำขอประทานบัตรแปลงดังกล่าว และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านเหมืองแร่และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการแล้ว ซึ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ตรวจสอบพื้นที่แล้ว มีสภาพแวดล้อมและการใช้ประโยชน์ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการที่ได้เห็นชอบไว้และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะหรือสร้างความขัดแย้งกับราษฎรในพื้นที่ นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่อยู่ในกรอบแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 – 2564 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (31 กรกฎาคม 2561) เห็นชอบแล้ว โดยภายใต้แผนแม่บทดังกล่าวได้กำหนดให้พื้นที่ที่ปรากฏว่ามีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ซึ่งรวมถึงพื้นที่ตามประทานบัตร คำขอ    ต่ออายุประทานบัตร และคำขอประทานบัตรที่ได้ออกให้หรือได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510   ก่อนวันที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้

 

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี  เพชรบุรี

มติครม. เรื่อง ขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่ของห้างหุ้นส่วนจำกัด เพชรสมุทร (1970) ที่จังหวัดเพชรบุรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ตามคำขอต่ออายุประทานบัตรที่ 1/2558 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด เพชรสมุทร (1970) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 และวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ทั้งนี้ เมื่อหน่วยงานเจ้าของพื้นที่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้ว ให้ อก. โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ดำเนินการให้ครบถ้วนถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนการพิจารณาอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตรต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

1. กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ตามคำขอ  ต่ออายุประทานบัตรที่ 1/2558 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด เพชรสมุทร (1970) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 ที่กำหนดหลักการการอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้เพื่อการทำเหมืองแร่ในกรณีการต่ออายุการอนุญาตในที่เดิมที่เคยได้รับอนุญาตมาก่อนและเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ ในเขตพื้นที่ต้นน้ำชั้นที่ 1 ให้นำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเป็นราย ๆ ไป และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ที่กำหนดให้พื้นที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขอผ่อนผันในครั้งนี้อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี ของลุ่มน้ำภาคตะวันตก โดยการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในขั้นตอนนี้ไม่ได้เป็นการพิจารณาอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ แต่เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องข้างต้นเท่านั้น ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี และหน่วยงานเจ้าของพื้นที่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้ว กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะได้ดำเนินการให้ครบถ้วนถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนการพิจารณาอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตรต่อไป

2. พื้นที่คำขอต่ออายุประทานบัตรของห้างหุ้นส่วนจำกัด เพชรสมุทร (1970) เป็นการขอทำเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่ตำบลหนองชุมพลเหนือ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 127 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา ซึ่งประทานบัตรครบกำหนดสิ้นอายุแล้ว เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 โดยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศกำหนดเขตแหล่งหินอุตสาหกรรม ฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2540 ไม่เป็นแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ และไม่เป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับการทำเหมืองตามระเบียบและกฎหมายของส่วนราชการต่าง ๆ รวมทั้งการดำเนินการตามคำขอต่ออายุประทานบัตรเป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไก้แก่

2.1 การยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ต่อกรมป่าไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484

2.2 การพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อพิจารณาการจัดการหน้าเหมืองให้ปลอดภัย และตรวจสอบกำกับดูแลการทำเหมืองให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 บริเวณเขาอีบิด  ซึ่งแต่งตั้งโดยจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งคณะกรรมการไตรภาคีฯ ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการคำขอต่ออายุประทานบัตรแปลงนี้แล้ว

2.3 การตรวจสอบพื้นที่โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมป่าไม้ ซึ่งปรากฏว่า สภาพพื้นที่คำขอต่ออายุประทานบัตร และการใช้ประโยชน์พื้นที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่มีปัญหาการร้องเรียนคัดค้านที่เกี่ยวกับคำขอต่ออายุประทานบัตร และการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะหรือสร้างความขัดแย้งกับราษฎรในพื้นที่

2.4 การพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ได้ให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560

2.5 การพิจารณาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งได้เห็นชอบให้ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เพชรสมุทร (1970) เข้าใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี ที่จังหวัดเพชรบุรี โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด และ ให้ดำเนินการขออนุญาตให้ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก่อนเข้าดำเนินการในพื้นที่

2.6 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 มาตรา 13 วรรคสอง บัญญัติให้รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ให้ความเห็นชอบแล้ว สามารถนำไปใช้เพื่อเสนอขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีหรือประกอบการพิจารณาอนุญาตตามกฎหมายได้ ภายในระยะเวลาห้าปีนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ดังนั้น รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 จึงสามารถนำไปใช้เพื่อเสนอขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีได้ภายในวันที่ 17 กรกฎาคม 2566

2.7 พื้นที่คำขอต่ออายุประทานบัตรนี้ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เพชรสมุทร (1970) ได้ยื่นคำขอต่ออายุประทานบัตร เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2558 ก่อนวันที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติให้ใช้ประโยชน์เพื่อกิจการเหมืองหินอุตสาหกรรม และเป็นพื้นที่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศกำหนดเขตแหล่งหินอุตสาหกรรม ฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2540 จึงถือเป็นพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 – 2564 กำหนดเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ดังนั้น การอนุญาตให้ทำเหมืองที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการตามขั้นตอนภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติการขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี จึงเป็นไปตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 19

2.8 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องดำเนินคดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัด เพชรสมุทร (1970) ในกรณีการทำเหมืองในพื้นที่ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตประทานบัตร และกรณีทำเหมืองในเขตห้ามทำเหมือง (Buffer Zone) ซึ่งการดำเนินคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีทางแพ่งต่อผู้ยื่นคำขอต่ออายุประทานบัตร หรือในกรณีที่ผู้ขอแพ้คดีทางแพ่ง ไม่ทำให้ผู้ขอขาดคุณสมบัติ  ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 จึงสามารถดำเนินการเพื่ออนุญาตคำขอต่ออายุประทานบัตรต่อไปได้

 

ข้อสังเกต

ความต่อเนื่องของเหมืองหินเป็นความต่อเนื่องของอุตสาหกรรมก่อสร้าง  ความต่อเนื่องของอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นความต่อเนื่องของการพัฒนาทางกายภาพ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เมื่อโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและด้านอื่นๆ พร้อม การพัฒนาประเทศตามแผนงาน โครงการต่างๆ ก็สามารถดำเนินการได้ตามกำหนดการ

#