“อู่ตะเภาใหม่” ประตูบานใหญ่แห่งใหม่ของ อีอีซี
  • 11 มิถุนายน 2020 at 11:40
  • 1826
  • 0

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกเป็นอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญมากของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภารตะวันออก  ดังนั้นมาติดตามข้อมูลความคืบหน้าของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ จากมติคณะรัฐมนตรีวันที่  2 มิถุนายน  2563 เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 2/2563 เรื่อง โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก  เพื่อประกอบการวางแผนธุรกิจรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจหลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19

การใช้งบประมาณภาครัฐ และงบกลาง

คณะมีมติรับทราบอนุมัติและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 เรื่อง โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น ให้ถือว่าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหรือเห็นชอบตามมติ กพอ.

2. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยเอกชนที่ได้รับคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อให้เป็นไปตามมติ กพอ. ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563

3. อนุมัติให้กองทัพเรือดำเนินกระบวนการหรือขั้นตอนเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนที่จะเป็นผู้รับงานโครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับไปพลางก่อนระหว่างรอผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่จะยังลงนามในสัญญาว่าจ้างกับผู้รับจ้างที่ได้รับการคัดเลือกไม่ได้จนกว่า รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

4. รับทราบการขอรับการจัดสรรงบประมาณ กรอบวงเงิน 390,000,000 บาท (สามร้อยเก้าสิบล้านบาทถ้วน) ของกองทัพเรือ สำหรับโครงการพัฒนาการให้บริการอุตุนิยมวิทยาการบิน ดำเนินการปี พ.ศ. 2564-2566 โดยให้เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐพ.ศ. 2561

5. รับทราบการขอรับการจัดสรรงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2563 กรอบวงเงิน 31,200,000 บาท (สามสิบเอ็ดล้านสองแสนบาทถ้วน) ของกองทัพเรือ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการรื้อย้ายระบบสายไฟฟ้าของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน

6. รับทราบการขอรับการจัดสรรงบประมาณ กรอบวงเงินไม่เกิน 468,000,000 บาท (สี่ร้อยหกสิบแปดล้านบาทถ้วน) ของกองทัพเรือ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการนำสายไฟลงใต้ดินเพื่อส่งเสริมสภาพพื้นที่สำหรับเมืองการบินภาคตะวันออก

ความคืบหน้าสัญญาการร่วมทุน

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 เวลา 9.30 - 11.30 น. ณ ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีมติที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ดังนี้

1. ผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุน

1.1 การดำเนินงาน

1) คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้มีคำสั่งที่ 1/2561 สั่ง ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ตามข้อ 12 ของประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ ในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ)

2) คณะกรรมการคัดเลือกฯ ในการประชุมครั้งที่ 5/2561 วันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 ได้เห็นชอบร่างประกาศเชิญชวน เอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน และร่างสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งมีเนื้อหาครบถ้วนตามประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ และ ทร. ได้ดำเนินการประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 และขายเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ระหว่างวันที่ 16 – 19 พฤศจิกายน 2561 โดยมีผู้ซื้อเอกสารการคัดเลือกฯ จำนวนทั้งสิ้น 42 ราย จาก 8 ประเทศ

3) คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้กำหนดวันเปิดให้มีการรับซองข้อเสนอ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 9.00 - 15.00 น. ต่อมาคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในการประชุมครั้งที่ 1/2562 วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ได้มีมติขยายระยะเวลาการยื่นข้อเสนอเป็นวันที่ 21 มีนาคม 2562 เวลา 9.00 - 15.00 น. เนื่องจากมีเอกชนจำนวนมากขอให้มีการพิจารณาขยายการยื่นข้อเสนอ เพื่อให้เอกชนได้รับข้อมูลที่เพียงพอในการจัดทำข้อเสนอให้มีความสมบูรณ์และเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐมากที่สุด

4) คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอโครงการฯ ในวันที่ 21 มีนาคม 2562 เวลา 09.00 น. ถึง 15.00 น. โดยมีผู้ยื่นข้อเสนอทั้งสิ้น 3 ราย ได้แก่

(1)                  กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) (กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส) ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (Lead Firm) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเสนอ Narita International Airport Corporation เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน

(2)                  กลุ่ม Grand Consortium ประกอบด้วย บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) (Lead Firm) บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด โดยเสนอ GMR Airport Limited (GAL) เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน

(3)               กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้งฯ) ประกอบด้วย บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด (Lead Firm) บริษัท Orient Success International Limited บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ช.การช่าง จํากัด (มหาชน) และบริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด โดยเสนอ Fraport AG เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน

1.2 การประเมินข้อเสนอ

1) คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการฯ ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ครบถ้วนตามที่ได้รับมอบหมายเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีการประชุมทั้งสิ้น 17 ครั้ง เพื่อประเมินข้อเสนอด้านคุณสมบัติทั่วไป ข้อเสนอด้านเทคนิค และข้อเสนอด้านราคาของเอกชนทั้ง 3 ราย ตามขั้นตอนของประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ สรุปผลดังนี้

 

การประเมินข้อเสนอ

คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติเมื่อ

ผลการประเมิน

(1) กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส

(2) กลุ่ม Grand Consortium

(3) กลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้งฯ

ข้อเสนอซองที่ 1

ด้านคุณสมบัติทั่วไป

ประชุมครั้งที่ 11/2562 วันที่ 2 ก.ค. 2562

ผ่านการประเมิน

ผ่านการประเมิน

ผ่านการประเมิน

ข้อเสนอซองที่ 2

ด้านเทคนิค

ประชุมครั้งที่ 16/2562 วันที่ 9 ต.ค. 2562 และประชุมครั้งที่ 1/2563 วันที่ 14 ม.ค. 2563

ผ่านการประเมิน

ผ่านการประเมิน

ผ่านการประเมิน

 

 

 

ข้อเสนอซองที่ 3

ด้านราคา

ประชุมครั้งที่ 2/2563 วันที่ 30 ม.ค. 2563

เสนอจำนวนเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำให้แก่รัฐ

ดีที่สุดเป็นอันดับที่ 1

เสนอจำนวนเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำให้แก่รัฐ

ดีเป็นอันดับที่ 3

เสนอจำนวนเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำให้แก่รัฐ

ดีเป็นอันดับที่ 2

ข้อเสนอซองที่ 4

ข้อเสนออื่น ๆ

ประชุมครั้งที่ 6/2563 วันที่ 13 เม.ย. 2563

รับทราบและไม่นำมาพิจารณา

ไม่เปิดซอง 4 เนื่องจากไม่ผ่านการประเมินซอง 3

ไม่เปิดซอง 4 เนื่องจากไม่ผ่านการประเมินซอง 3

 

2) การประเมินข้อเสนอซองที่ 3 ด้านราคา ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 วันที่ 30 มกราคม 2563 คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติให้กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสเป็นผู้ผ่านการประเมินเนื่องจากเป็นผู้ที่เสนอจำนวนเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำให้แก่รัฐดีที่สุดซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ได้เสนอราคาเป็นจำนวนเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำรายปีรวมตลอดอายุสัญญาร่วมทุน เมื่อคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบัน (Present Value) ณ ปี 2561 โดยใช้อัตราคิดลดร้อยละ 3.76 เท่ากับ 305,555,184,968 บาท ซึ่งคำนวณจากมูลค่าที่เป็นตัวเงิน (Nominal Value) รวมเป็นเงิน 1,326,000,000,000 บาท โดยเอกชนคู่สัญญาจะต้องจ่ายผลตอบแทนให้แก่รัฐรายปี แล้วแต่จำนวนใดสูงกว่า ระหว่างจำนวนเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำ หรือจำนวนผลรวมของรายได้ที่คำนวณจากร้อยละ 5 ของรายได้ของเอกชนคู่สัญญา (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) ค่าเช่าพื้นที่โครงการ และรายได้ของผู้ได้รับสิทธิช่วง (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) ที่เกิดขึ้นจริง

ข้อเสนอจำนวนเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำรายปี ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส มีรายละเอียดดังนี้

หน่วย : ล้านบาท

ปีการร่วมลงทุน

ปีที่ 1*

ปีที่ 2*

ปีที่ 3*

ปีที่ 4

ปีที่ 5

เงินประกันขั้นต่ำรายปี

100

100

100

1,300

1,400

ปีการร่วมลงทุน

ปีที่ 6

ปีที่ 7

ปีที่ 8

ปีที่ 9

ปีที่ 10

เงินประกันขั้นต่ำรายปี

1,600

1,900

2,000

2,100

2,300

ปีการร่วมลงทุน

ปีที่ 11

ปีที่ 12

ปีที่ 13

ปีที่ 14

ปีที่ 15

เงินประกันขั้นต่ำรายปี

2,600

2,800

3,000

3,400

3,500

ปีการร่วมลงทุน

ปีที่ 16

ปีที่ 17

ปีที่ 18

ปีที่ 19

ปีที่ 20

เงินประกันขั้นต่ำรายปี

3,800

3,800

4,000

4,300

4,700

ปีการร่วมลงทุน

ปีที่ 21

ปีที่ 22

ปีที่ 23

ปีที่ 24

ปีที่ 25

เงินประกันขั้นต่ำรายปี

4,900

5,300

5,500

5,700

19,700

ปีการร่วมลงทุน

ปีที่ 26

ปีที่ 27

ปีที่ 28

ปีที่ 29

ปีที่ 30

เงินประกันขั้นต่ำรายปี

23,000

24,300

25,200

22,500

24,800

ปีการร่วมลงทุน

ปีที่ 31

ปีที่ 32

ปีที่ 33

ปีที่ 34

ปีที่ 35

เงินประกันขั้นต่ำรายปี

29,900

27,200

29,200

30,900

41,100

ปีการร่วมลงทุน

ปีที่ 36

ปีที่ 37

ปีที่ 38

ปีที่ 39

ปีที่ 40

เงินประกันขั้นต่ำรายปี

42,400

45,700

48,900

53,000

55,700

ปีการร่วมลงทุน

ปีที่ 41

ปีที่ 42

ปีที่ 43

ปีที่ 44

ปีที่ 45

เงินประกันขั้นต่ำรายปี

63,800

65,400

66,700

66,700

69,400

ปีการร่วมลงทุน

ปีที่ 46

ปีที่ 47

ปีที่ 48

ปีที่ 49

ปีที่ 50

เงินประกันขั้นต่ำรายปี

71,000

72,500

74,600

78,200

84,000

หมายเหตุ : *เอกชนร่วมลงทุนเหมาจ่ายค่าเช่าที่ดินช่วงพัฒนาโครงการฯ

ข้อมูลเกี่ยวกับผลการเจรจา

1.3 ผลการเจรจาร่างสัญญาร่วมลงทุนกับผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมิน

1)                  คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีมติให้ สกพอ. แต่งตั้งคณะทำงานเจรจา 2 ชุด เพื่อสนับสนุน ให้การดำเนินการช่วงเจรจากับผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินเป็นไปด้วยความรอบคอบ รัดกุม ประกอบด้วย (1) คณะทำงานเจรจารายละเอียดด้านเทคนิค และ (2) คณะทำงานเจรจาเงื่อนไขร่างสัญญาร่วมลงทุน โดยคณะทำงานเจรจาฯ ทั้ง 2 คณะ ได้มีการประชุมเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส รวมทั้งสิ้น 19 ครั้ง ภายใต้กรอบของเอกสารการคัดเลือกเอกชนฯ หลักการโครงการที่ กพอ. ได้เห็นชอบไว้ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งแล้วเสร็จ และได้นำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อพิจารณาเห็นชอบผลการเจรจาตามลำดับ

2)                  คณะกรรมการคัดเลือกฯ ในการประชุม ครั้งที่ 5/2563 วันที่ 9 เมษายน 2563 มีมติเห็นชอบผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส โดยมอบหมายให้ที่ปรึกษากฎหมายไปปรับแก้ไขร่างสัญญาร่วมลงทุนตามผลการเจรจา และได้มีมติให้เปิดข้อเสนอซองที่ 4 ข้อเสนอ  อื่น ๆ ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ซึ่งได้มีการเปิดข้อเสนอซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสในวันที่ 10 เมษายน 2563

3)                  คณะกรรมการคัดเลือกฯ ในการประชุมครั้งที่ 6/2563 วันที่ 13 เมษายน 2563 ได้พิจารณาข้อเสนอซองที่ 4 (ข้อเสนออื่นๆ) ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ซึ่งมีข้อเสนอจำนวน 11 ข้อ โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขในการคัดเลือก คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงมีมติรับทราบข้อเสนอซอง 4 (ข้อเสนออื่นๆ) และไม่นำข้อเสนอซอง 4 (ข้อเสนออื่นๆ) มาเป็นส่วนหนึ่งของร่างสัญญาร่วมลงทุน

ต่อมา คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ให้เอกชนเข้ามาเจรจาจนได้ข้อยุติยอมรับผลการเจรจาแล้ว และมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือก ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุน และให้ ทร. ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการร่วมจัดส่งผลการคัดเลือก ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชน และเอกสารประกอบการพิจารณา ให้สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อตรวจพิจารณาต่อไป ตามข้อ 16 แห่งประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ

ทั้งนี้ การดำเนินการโครงการนี้ได้ดำเนินการตามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) โดยตลอดกระบวนการคัดเลือกของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีการเชิญผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมและการดำเนินงานของคณะกรรมการคัดเลือกในทุกกระบวนการ ตามโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม

การพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด

1.4 การพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนของสำนักงานอัยการสูงสุด

1)                  ทร. ได้มีหนังสือด่วนมาก ที่ กห 0509/1105 ลงวันที่ 17 เมษายน 2563 ถึงสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้พิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯ แล้ว โดยตามประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ สำนักงานอัยการสูงสุดต้องแจ้งผลการตรวจพิจารณาให้หน่วยงานเจ้าของโครงการภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งร่างสัญญาร่วมลงทุนดังกล่าวประกอบไปด้วยหลักการของโครงการฯ ซึ่งเป็นไปตาม RFP โดยมีหัวข้อที่เป็นสาระสำคัญดังต่อไปนี้

(1)      คำนิยาม การตีความ และลำดับความสำคัญ

(2)      โครงการฯ (ความเป็นมา วัตถุประสงค์และขอบเขตของโครงการฯ รูปแบบการร่วมลงทุน ข้อตกลงร่วมลงทุน กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินโครงการฯ ระยะเวลาโครงการฯ แหล่งเงินทุนและการลงทุนในโครงการฯ มาตรการสนับสนุนโครงการฯ และการบริหารและการตรวจสอบโครงการฯ)

(3)      ขอบข่ายของงาน และสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย

(4)      เงื่อนไขบังคับก่อน สำหรับการเริ่มต้นนับระยะเวลาโครงการฯ

(5)      คำรับรองและคำรับประกัน

(6)      ที่ปรึกษา

(7)      การดำเนินโครงการฯ ในส่วนหน่วยงานของรัฐ

(8)      หน้าที่และข้อผูกพันของเอกชนคู่สัญญา

(9)      การดำเนินโครงการฯ ในงานส่วนของเอกชนคู่สัญญาที่โครงการฯ (การพัฒนาและการให้บริการและบำรุงรักษาในงานหลักและงานสนับสนุนของสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา)

(10)  การให้สิทธิช่วง การให้เช่าพื้นที่โครงการฯ การเช่าช่วง และการดำเนินกิจการทางพาณิชย์

(11)  รายได้ของรัฐ และรายได้ของเอกชนคู่สัญญา

(12)  การทำประกันภัย

(13)  เหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน

(14)  เหตุผิดสัญญาในสาระสำคัญและการเลิกสัญญา

(15)  การโอนกรรมสิทธิ์ และ/หรือส่งมอบทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินโครงการฯ

(16)  การเปลี่ยนแปลงงาน

(17)  การใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สาธารณะ

(18)  การเข้าทำและการสิ้นสุดสัญญาที่เข้าทำโดยตรงกับผู้สนับสนุนทางการเงิน

(19)  ข้อตกลงกระทำการ

(20)  ข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหาย

(21)  การระงับข้อพิพาท

(22)  การว่าจ้าง การเปลี่ยนการว่าจ้าง และการยกเลิกสัญญาจ้าง

(23)  ข้อกำหนดทั่วไป

2)                  สำนักงานอัยการสูงสุดได้มีหนังสือด่วนมาก ที่ อส 0005/7760 ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 แจ้งผลการพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯ มายัง ทร. โดยมีข้อสังเกตต่อร่างสัญญา ดังนี้

(1)     สกพอ. จะลงนามเป็นคู่สัญญากับเอกชนผู้ผ่านการคัดเลือกในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ สกพอ. ชอบที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ สกพอ. เป็นคู่สัญญาในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ด้วย

(2)     สกพอ. จะต้องมีเอกสารยินยอมให้ใช้พื้นที่จาก ทร. ก่อนลงนามในสัญญา เนื่องจาก สกพอ. ต้องมีหน้าที่ส่งมอบพื้นที่โครงการฯ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของ ทร. เพื่อให้การปฏิบัติตามสัญญาเป็นไปตามพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มาตรา 53

(3)     โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ เกี่ยวข้องกับโครงการอื่นที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน สกพอ. จึงควรมีมาตรการร่วมกันกับหน่วยงานของรัฐอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงกองทัพเรือ การรถไฟแห่งประเทศไทย และกรมทางหลวง ในกรณีการดำเนินการใดที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการฯ จะต้องมีการหารือร่วมกันกับ สกพอ. ก่อนที่จะดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อมิให้ สกพอ. ตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ นี้

(4)     โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ มีความเกี่ยวข้องกับการเดินอากาศของประเทศตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ดังนั้น สกพอ. จึงควรมีมาตรการที่กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเอกชนคู่สัญญา ให้ความร่วมมือระหว่างกันในการบริหารจัดการสนามบินอู่ตะเภาทั้งหมดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศอย่างถูกต้องและเคร่งครัด

(5)     มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 เกี่ยวกับเรื่องยกเลิกหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้การส่งมอบสินค้าปลอดอากรผ่านจุดส่งมอบสินค้า สำนักงานอัยการสูงสุดเห็นว่า ประเด็นการเจรจาเรื่องการยกเลิกหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้การส่งมอบสินค้าปลอดอากรผ่านจุดส่งมอบสินค้า (Pick Up Counter) นั้น เป็นประเด็นทางธุรกิจซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกจะต้องเป็นผู้พิจารณาว่า สมควรกำหนดเป็นเหตุผ่อนผันหรือไม่ โดยหากคณะกรรมการคัดเลือกเห็นว่าเป็นเหตุผ่อนผัน ก็ชอบที่จะระบุในร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯ ให้ชัดเจนตามผลการเจรจาซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดไม่มีข้อขัดข้อง

(6)     เนื่องจากโครงการฯ ประกอบด้วยทางวิ่งที่สอง ซึ่งกองทัพเรือมีหน้าที่ต้องออกแบบและก่อสร้างและเป็นผู้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการและเนื่องจากอายุข้อเสนอจะสิ้นสุดลงในวันที่ 21 กันยายน 2563 ดังนั้น หาก สกพอ. จำเป็นที่จะต้องให้มีการลงนามในร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯ ภายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และ ร่างสัญญาร่วมลงทุนแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้หลักประกันซองของผู้ยื่นข้อเสนอสำหรับการคัดเลือกเอกชนของโครงการฯ สิ้นสุดสภาพบังคับทางกฎหมาย และเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น การที่ สกพอ. จะกำหนดเงื่อนไขบังคับก่อนว่าหน่วยงานของรัฐยังไม่ผูกพันที่จะให้สิทธิร่วมลงทุนแก่เอกชนคู่สัญญาจนกว่ารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในส่วนของทางวิ่งที่สองจะได้รับอนุมัติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้มีการลงนามในร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯ ได้ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนดังกล่าว สำนักงานอัยการสูงสุดก็ไม่มีข้อขัดข้อง

(7)     การกำหนดเลขข้อ การอ้างอิงเลขข้อ หรือการใช้คำนิยาม (ข้อความตัวหนา) ในที่ต่าง ๆ ขอให้ตรวจสอบให้ถูกต้องด้วย เนื่องจากมีข้อความบางแห่งที่อ้างอิงเลขข้อ หรือระบุคำนิยามไว้ไม่ถูกต้องตรงกัน รวมทั้งให้ตรวจสอบคำศัพท์ภาษาอังกฤษและศัพท์ทางเทคนิคอื่นๆ ที่ใช้อ้างอิงให้มีความถูกต้องด้วย

(8)     สกพอ. ต้องตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมในประเด็นทางด้านเทคนิค ด้านการเงินและทางธุรกิจ ในร่างสัญญาและในเอกสารแนบท้ายสัญญาต่างๆ รวมทั้งควรพิจารณาตรวจสอบเงื่อนไขในร่างสัญญาและเอกสารแนบท้ายสัญญา มิให้ขัดหรือแย้งกับมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติโครงการฯ หรือที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ และเอกสารข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอในสาระสำคัญด้วย

3)                  คณะกรรมการคัดเลือกฯ ในการประชุมครั้งที่ 7/2563 วันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ได้เชิญกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุดที่มีต่อร่างสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ ก่อนลงนามในร่างสัญญาร่วมลงทุน เป็นไปอย่างรอบคอบและครบถ้วน ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ตกลงยอมรับร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯ ที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดและเจรจาเพิ่มเติมแล้ว และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนครบถ้วนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

4)                  ทร. มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ กห 0509/1369 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 นำส่งผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดต่อ สกพอ. เพื่อเสนอต่อ กพอ.

การพิจารณาของกพอ.

1.5 การพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ ของ กพอ.

1) สกพอ. ได้ส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ที่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดและคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ เพื่อให้กรรมการ กพอ. พิจารณาให้ความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนการประชุม กพอ. มีกรรมการตอบมาทั้งหมด 18 ท่าน โดยประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย ขอไม่รับเอกสารและไม่พิจารณาร่างสัญญาฯ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งนี้ มีกรรมการให้ความเห็นเพิ่มเติม 8 ท่าน ซึ่ง สกพอ. ร่วมกับที่ปรึกษาด้านกฎหมายได้จัดทำคำชี้แจงความเห็นเพิ่มเติมดังกล่าวทุกข้อแล้ว

2) กพอ. ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2563 วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 จึงมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด ของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยให้ สกพอ. นำความเห็นของกรรมการต่อร่างสัญญาและความเห็นในที่ประชุมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับร่างสัญญาไปดำเนินการปรับปรุงร่างสัญญา พร้อมทั้งดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 และเห็นชอบให้ สกพอ. ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยเอกชนที่ได้รับคัดเลือก ตามที่นำเสนอในข้อ 2 โดยให้เสนอเรื่องดังกล่าวให้ ครม. พิจารณาอนุมัติต่อไป

3) สกพอ. ได้นำความเห็นของกรรมการ กพอ. ต่อร่างสัญญาและความเห็นในที่ประชุม กพอ. ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2563 วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับร่างสัญญาไปดำเนินการปรับปรุงร่างสัญญาแล้ว (รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 3)

งานที่ภาครัฐต้องดำเนินการ

2. ภารกิจของฝ่ายรัฐที่จะต้องดำเนินการตามหลักการโครงการฯ

2.1 มติ ครม. เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 อนุมัติในหลักการโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ตามมติของ กพอ. และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้

2.2 สกพอ. ทร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมความพร้อมเรื่องแผนงานและการจัดเตรียมงบประมาณ สำหรับโครงการและกิจกรรมสำคัญ 9 เรื่อง ได้แก่ (1) การก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และการจัดทำรายงาน EHIA (2) การก่อสร้างทางเชื่อมโครงข่ายทางถนนสุขุมวิทและทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7  (3) การดำเนินการด้านอุตุนิยมวิทยาการบิน (4) การกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ประโยชน์ที่ดินราชพัสดุเขตส่งเสริมเมืองการบินฯ (5) การทำข้อตกลงการใช้ประโยชน์สนามบินอู่ตะเภาทั้งหมดร่วมกัน (JUA) (6) การก่อสร้างหอบังคับการบินแห่งใหม่ (7) การจัดหาผู้ประกอบการสาธารณูปโภค (8) การรื้อย้ายศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาของการบินไทย และ (9) การเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ/อนุญาต ซึ่ง กพอ. ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2563 วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ได้มีมติดังนี้

1)                   เห็นชอบให้กองทัพเรือดำเนินกระบวนการคัดเลือกผู้รับจ้างเพื่อมาก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับไปพลางก่อนระหว่างรอผลการพิจารณารายงาน EHIA แต่จะยังไม่ลงนามในสัญญาว่าจ้างกับผู้รับจ้างที่ได้รับการคัดเลือก จนกว่ารายงาน EHIA จะได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ทั้งนี้ เมื่อ กพอ. เห็นชอบแล้ว ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป และให้กองทัพเรือร่วมกับ สกพอ. เร่งจัดทำรายงาน EHIA เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณา

2)                   เห็นชอบให้กรมทางหลวง เร่งดำเนินการก่อสร้างทางยกระดับเชื่อมถนนสุขุมวิทกับอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ และให้กรมทางหลวงดำเนินการศึกษา วางแผนงานและวางแผนกรอบงบประมาณสำหรับการก่อสร้างทางยกระดับเพื่อเชื่อมโยงอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่โดยตรงกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ให้แล้วเสร็จภายใต้กรอบระยะเวลาที่คณะทำงานบูรณาการการก่อสร้างกำหนด และให้กองทัพเรือสนับสนุนในเรื่องพื้นที่สำหรับการก่อสร้าง

3)                   เห็นชอบให้กองทัพเรือเป็นผู้ให้บริการอุตุนิยมวิทยาการบินประจำสนามบินอู่ตะเภา เพื่อนำเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณในกรอบวงเงินไม่เกิน 390 ล้านบาท สำหรับดำเนินการปี 2564-2566 โดยให้เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

4)                   เห็นชอบให้มีการกำหนดค่าธรรมเนียมจัดประโยชน์การเช่าที่ราชพัสดุเขตส่งเสริม : เมืองการบินภาคตะวันออก กรณีระยะเวลาการเช่าที่ดินมากกว่า 10 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี โดยให้แบ่งชำระเป็นงวดทุก 10 ปี โดยงวดที่ 1 ชำระในปีที่เริ่มการเช่า ในอัตราร้อยละ 1 ของมูลค่าทรัพย์สิน คูณ 10 ปี งวดถัดๆ ไปให้คิดเพิ่มร้อยละ 3 ต่อปี จากค่าธรรมเนียมที่ชำระในงวดที่ 1

5)                   รับทราบการทำข้อตกลงการใช้ประโยชน์สนามบินอู่ตะเภาทั้งหมดร่วมกัน (Joint Use Agreement: JUA) ให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยกองทัพเรือ

6)                   รับทราบการก่อสร้างหอบังคับการบินแห่งใหม่ โดยบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด

7)                   รับทราบการจัดหาผู้ประกอบการสาธารณูปโภค โดยกองทัพเรือ ทั้งนี้ การคัดเลือกผู้ประกอบการระบบสาธารณูปโภคดังกล่าวถือเป็นการเช่าตาม มาตรา 53 วรรค 4 แห่ง พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 โดย ทร. ไม่ถือว่าเป็นการร่วมลงทุน โดยผู้ประกอบการเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างตลอดระยะเวลาสัญญาเช่า และ สกพอ. จะเป็นผู้ให้เช่าที่ดินที่ราชพัสดุในเขตส่งเสริมฯ แก่ผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ได้แก่ ระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น และระบบประปาและระบบบำบัดน้ำเสีย ตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

8)                   รับทราบการรื้อย้ายศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานของการบินไทย โดยบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่ง สกพอ. อยู่ระหว่างดำเนินการประสานงานกับการบินไทยเพื่อจัดทำแผนการรื้อย้ายศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาและย้ายอากาศยานปลดระวางที่จอดอยู่ในพื้นที่ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2563 ทั้งนี้ สกพอ. และ ทร. จะสนับสนุนการดำเนินงานในระหว่างการรื้อย้ายแก่การบินไทยตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

9)                   รับทราบการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานอนุมัติ อนุญาตต่างๆ เช่น การอนุมัติเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม โดย สผ. การอนุมัติเกี่ยวกับใบรับรองต่างๆ ตามกฎหมายการเดินอากาศ ทั้งนี้ สกพอ. จะเป็นผู้ประสานงาน ติดตาม กำกับดูแล เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ สำเร็จตามเป้าหมายและกำหนดเวลา

งานที่ภาครัฐต้องเร่งทำให้เสร็จ

3. ภารกิจเสริมที่จำเป็นในการดำเนินการโครงการฯ

เนื่องจากโครงการพัฒนาสนามบินฯ เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเชิงพื้นที่และกระทบต่อความเป็นอยู่เดิมของประชาชนและกำลังพลของ ทร. ดังนั้นเพื่อให้โครงการสามารถพัฒนาไปได้อย่างสร้างสรรค์และเป็นมิตรต่อชุมชนและหน่วยงานในท้องถิ่น กพอ. ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2563 วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 จึงมีมติดังนี้

1)                   เห็นชอบให้การรื้อย้ายสายไฟฟ้าของกิจการสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2563 วงเงิน 31,200,000 บาท โดยกองทัพเรือ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

(1) มติ ครม. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 อนุมัติแผนการส่งมอบพื้นที่สำหรับการดำเนินงานรื้อย้ายสาธารณูปโภคและก่อสร้างทดแทนกลับ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน พร้อมกรอบงบประมาณดำเนินการจำนวน 4,103,608,000 บาทที่หน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคในพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินจำเป็นต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับการดำเนินงานรื้อย้ายสาธารณูปโภคและก่อสร้างทดแทน ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาดไทยจำนวน 4,069.408 ล้านบาท กิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ (กระทรวงกลาโหม) จำนวน 31.2 ล้านบาท และค่ายลูกเสือวชิราวุธ (กระทรวงศึกษาธิการ) จำนวน 3 ล้านบาท

(2) ทร. ได้รับผลกระทบต้องรื้อย้ายสาธารณูปโภคเนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยจากการสำรวจร่วมกันระหว่าง ทร. และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด พบตำแหน่งสายไฟฟ้าที่กีดขวางพื้นที่โครงสร้างทางวิ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ภายในเขตทางรถไฟเดิมซึ่งต้องรื้อย้าย 10 จุด โดยมีรายละเอียดที่ต้องดำเนินงานสำหรับการรื้อย้ายคิดเป็นกรอบวงเงินงบประมาณ 31,200,000 บาท ซึ่งเป็นรายจ่ายที่ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณไว้ แต่มีภารกิจจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการและต้องใช้จ่ายโดยเร็วเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินในปี 2564

(3) กิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือจึงมีความจำเป็นขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2563 เพื่อดำเนินการรื้อย้ายสายไฟฟ้าดังกล่าว วงเงิน 31,200,000 บาท โดยมีแผนเริ่มจัดซื้อจัดจ้างในเดือนพฤษภาคม 2563 และดำเนินการรื้อย้ายสายไฟฟ้าดังกล่าวระหว่างเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2563 (ระยะเวลาก่อสร้าง 6 เดือน)

2)                   เห็นชอบการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินเพื่อส่งเสริมสภาพพื้นที่สำหรับเมืองการบิน พร้อมการขอรับจัดสรรงบประมาณในกรอบวงเงินไม่เกิน 468 ล้านบาท ของ ทร. เพื่อเป็นการเตรียมตัวให้พื้นที่ของ ทร. บริเวณฐานทัพเรือสัตหีบที่เชื่อมโยงกับสนามบินเป็นเมืองอัจฉริยะในอนาคต โดยให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ต่อไป

3)                   รับทราบแผนการดำเนินงานสำรวจและเยียวยาประชาชนในพื้นที่รอบสนามบินอู่ตะเภาที่ได้รับผลกระทบตามแนวเส้นเสียงของโครงการฯ เพื่อเป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชนในพื้นที่ โดย สกพอ. อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อสำรวจประชาชนในพื้นที่ รวมถึงแนวทางเยียวยา และประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

4)                   รับทราบวัตถุประสงค์การบริหารกองทุนสวัสดิการกองทัพเรือ ดังนี้

(1) เพื่อช่วยเหลือกำลังพลกองทัพเรือ ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก

(2) เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้แก่บุคคลในครอบครัวกองทัพเรือมีความรู้งาเพียงพอที่จะประกอบอาชีพในพื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออก

(3) เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของส่วนราชการในกองทัพเรือ

(4) เพื่อส่งเสริม สนับสนุน กิจกรรมด้านสุขภาพ สุขอนามัย และสวัสดิการ ให้แก่กำลังพลของกองทัพเรือและครอบครัว

(5) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์และการกุศล

(6) เพื่อบริหารจัดการโครงการและงานตามข้อ (1) – (5) ที่ดำเนินการโดยใช้เงินส่วนแบ่งรายได้ที่กองทัพเรือได้รับ

ทั้งนี้ การบริหารกองทุนสวัสดิการจะมีระเบียบกองทุน และข้อกำหนดในการใช้เงินส่วนแบ่งรายได้นี้ให้มีความถูกต้องตามวัตถุประสงค์ โดยมีหลักเกณฑ์การใช้เงินกองทุนที่ชัดเจน และตรวจสอบได้ โดยมีผู้บัญชาการกองทัพเรือเป็นประธานกองทุน เพื่อให้สามารถกำหนดนโยบายในการบริหารเงินกองทุนได้อย่างเหมาะสม

คณะกรรมการบริหารจัดการช่วงการก่อสร้าง

4. การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานสำหรับการบริหารจัดการช่วงการก่อสร้าง เพื่อบูรณาการการดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ให้สอดคล้อง เชื่อมโยง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงต้องมีการประสานโครงการและบริหารสัญญาให้สอดคล้องกัน กพอ. ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2563 วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 จึงมีมติดังนี้

1) เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมประสานงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยให้ทำงานภายใต้กำกับของคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) และให้รายงานผลต่อ กบอ. เพื่อทราบเป็นระยะ และให้ กบอ. รายงานต่อ กพอ. เพื่อพิจารณาต่อไป

2) รับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานบูรณาการการก่อสร้างภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ และการจัดตั้งสำนักงานบริหารโครงการก่อสร้างฯ ของ สกพอ. โดยความร่วมมือกับกองทัพเรือ มีหน้าที่ในการรับผิดชอบประสานงานบริหารโครงการก่อสร้างกับฝ่ายต่างๆ ภายใน ทร. และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะต่างๆ เสนอแนะและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับปัญหาด้านเทคนิค ควบคุมระยะเวลาให้สอดคล้องกันทุกโครงการ และจัดทำแผนการก่อสร้างแบบบูรณาการ

#