BGSR คว้างาน Operation and Maintenance มอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี
  • 1 สิงหาคม 2020 at 14:25
  • 2065
  • 0

BGSR  บีทีเอส/กัลฟ์/ซิโน-ไทย/ราชกรุ๊ป ชนะประมูลได้ร่วมลงทุนการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) 2 สายใหม่ “บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี” วงเงิน 3.9 หมื่นล้าน  ข้อมูลความคืบหน้ามอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา และ บางใหญ่ – กาญจนบุรี (อย่างเป็นทางการ) ติดตามได้จากมติคณะรัฐมนตรี และการแถลงข่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

 

ขั้นตอนของการบริหารแผ่นดิน

มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 เรื่อง ผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) และการชี้แจงประเด็นข้อสังเกตของสำนักอัยการสูงสุดและความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และเรื่อง ผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) และการชี้แจงประเด็นข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุดและความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่อง ผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) และการชี้แจงประเด็นข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุดและความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และเรื่อง ผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) และการชี้แจงประเด็นข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุดและความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอแล้วมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนตามที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ได้ตรวจพิจารณาแล้ว โดยก่อนลงนามสัญญา ให้กรมทางหลวง (ทล.) ตรวจสอบสัญญาและเอกสารแนบท้ายสัญญาอีกครั้งให้ มีความถูกต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน กฎระเบียบ ประกาศ มติคณะรัฐมนตรี และมติคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ตามข้อสังเกตของ อส.

สาระสำคัญของเรื่อง

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 โดยในส่วนของโครงการ M6 คณะรัฐมนตรีมีมติ (14 กรกฎาคม 2558) เห็นชอบให้ก่อสร้างภายในกรอบวงเงิน 84,600 ล้านบาท ส่วนโครงการ M81 คณะรัฐมนตรีมีมติ (14 กรกฎาคม 2558) เห็นชอบให้ก่อสร้างภายในกรอบวงเงิน 55,620 ล้านบาท และในครั้งนี้กระทรวงคมนาคม (คค.) โดยกรมทางหลวง (ทล.) ได้ขอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) ของโครงการทางหลวงพิเศษทั้งสองสาย ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556

 

มอเตอร์เวย์บางปะอิน – นครราชสีมา (ข้อมูลพื้นฐาน)

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา

สรุปรายละเอียดโครงการ

· มอเตอร์เวย์เก็บค่าผ่านทาง ขนาด 4 – 6 ช่องจราจร

· ระยะทาง 196 กิโลเมตร

· เชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

· กรอบค่าตอบแทนที่เอกชนจะได้รับ 33,258 ล้านบาท

· วงเงินค่าตอบแทนที่เอกชนเสนอขอรับ 21,308 ล้านบาท

ข้อมูลทั่วไปด้านวิศวกรรม

จำนวนช่องจราจร  4 – 6 ช่องจราจร

ทางแยกต่างระดับ 10 แห่ง

ด่านเก็บค่าผ่านทาง              9 แห่ง

ระบบเก็บค่าผ่านทาง            Manual, ETC, MLFF

ที่พักริมทาง (ไม่รวมอยู่ในสัญญา O&M ในครั้งนี้)

· Rest Area           5 แห่ง

· Service Area     2 แห่ง

· Service Center 1 แห่ง

 

 

มอเตอร์เวย์บางใหญ่ – กาญจนบุรี(ข้อมูลพื้นฐาน)

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี

สรุปรายละเอียดโครงการ

· มอเตอร์เวย์เก็บค่าผ่านทาง ขนาด 4 – 6 ช่องจราจร

· ระยะทาง 96 กม. เชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมสู่ภาคตะวันตก และโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย

· กรอบค่าตอบแทนที่เอกชนจะได้รับ 27,828 ล้านบาท

· วงเงินค่าตอบแทนที่เอกชนเสนอขอรับ 17,801 ล้านบาท

ข้อมูลทั่วไปด้านวิศวกรรม

จำนวนช่องจราจร  4 – 6 ช่องจราจร

ทางแยกต่างระดับ 8 แห่ง

ด่านเก็บค่าผ่านทาง              8 แห่ง

ระบบเก็บค่าผ่านทาง            Manual, ETC, MLFF

ที่พักริมทาง (ไม่รวมอยู่ในสัญญา O&M ในครั้งนี้)

· Rest Area           1 แห่ง

· Service Area     2 แห่ง

โครงการทางหลวงพิเศษทั้งสองโครงการที่ คค. เสนอมาในครั้งนี้มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากโครงการทางหลวงพิเศษที่ผ่านมา เนื่องจากจะเป็นสองโครงการแรกที่ใช้ด่านเก็บค่าผ่านทางฝั่งขาเข้าระบบแบบไม่มีไม้กั้นแบบ Full Multilane Free Flow (MLFF) ซึ่งจะช่วยลดปัญหาจราจรท้ายแถวสะสมบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง ลดความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และลดมลพิษที่จะเกิดขึ้นจากการจราจรแออัด

 

เปิดใช้ 2566 บางปะอิน – นครราชสีมาต้นปี  บางใหญ่ –กาญจนบุรีปลายปี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติผลการคัดเลือกโครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (O&M) มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. และบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. มีกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ราชกรุ๊ป เสนอราคาต่ำสุด รวม 2 สาย วงเงิน 39,138 ล้านบาท คาดว่าจะเซ็นสัญญาเดือนกรกฎาคมหรือเดือนสิงหาคม 2563 ร่างสัญญาผ่านการพิจารณาจากอัยการสูงสุดแล้ว เหลือสัญญาแนบท้ายบางส่วนเท่านั้น ทั้งนี้มอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สายกำหนดเปิดบริการปี 2566

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า โครงการนี้ใช้รูปแบบการลงทุนโดยให้เอกชนร่วมลงทุน PPP gross cost ระยะเวลา 33 ปี แบ่งเป็น 2 ระยะ ในระยะแรก ออกแบบและก่อสร้าง 3 ปี และระยะที่ 2 การดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ 30 ปี  BGSR เสนอขอรับค่าตอบแทนสายบางปะอิน-โคราช 21,329 ล้านบาท และบางใหญ่-กาญจนบุรี 17,809 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบวงเงินที่กำหนด 21,938 ล้านบาท

สำหรับการลงนามทาง BGSR จะตั้งนิติบุคคลใหม่มาลงนามสัญญา และหลังเซ็นสัญญา คาดว่าสายบางปะอิน-โคราชจะออกหนังสือเริ่มงานได้ทันที เพราะงานโยธาคืบหน้า 85% เริ่มทดลองระบบปลายปี 2565 และอาจจะให้ประชาชนทดลองใช้บางช่วง ก่อนเปิดเต็มรูปแบบต้นปี 2566 ส่วนบางใหญ่-กาญจนบุรี จะให้เริ่มงานใน 6 เดือนหลังเซ็นสัญญา เพราะงานก่อสร้างยังล่าช้า คืบหน้าเพียง 28% วางแผนแล้วเสร็จเปิดบริการปลายปี 2566

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดเผยว่า จะใช้เงินลงทุนประมาณ 12,000 ล้านบาท ในการก่อสร้างด่านเก็บเงินและติดตั้งระบบทั้ง 2 สาย กำหนดเริ่มงานสายบางปะอิน-โคราชได้ปลายปี 2563 ขณะนี้อยู่ระหว่างประมูลจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้าง ส่วนบางใหญ่-กาญจนบุรี จะเริ่มได้กลางปี 2564 มั่นใจว่าสร้างเสร็จภายใน 3 ปีตามสัญญา ส่วนการขอรับค่าตอบแทนจากรัฐต่ำ เพราะสามารถประหยัดต้นทุนจากระบบเทคโนโลยีระบบฟรีโฟลว์ขาเข้าทั้งหมด - Full Multilane Free Flow (MLFF) ที่นำมาใช้

นอกจากนี้ บริษัทยังสนใจเข้าร่วมลงทุน PPP จุดพักรถของทั้ง 2 สายทาง ซึ่งกรมทางหลวงมีแผนเปิดประมูลต่อไป รวมถึงสนใจเข้าร่วมลงทุน PPP net cost มอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 119 กม. เงินลงทุน 79,006 ล้านบาท เนื่องจากต่อเชื่อมสายบางใหญ่-กาญจนบุรีที่บริษัทได้งานบริหารโครงการ

#