อนุญาตทำเหมืองหินปูนต่อเนื่องและขยายพื้นที่รวมเป็นกว่า 104 ไร่ที่จ.ยะลา
  • 24 กันยายน 2020 at 11:36
  • 1257
  • 0

งานก่อสร้างต่าง ๆ โดยเฉพาะงานก่อสร้างที่ใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กจำเป็นต้องใช้ปูนซิเมนต์  เหล็กเส้น และและหินชนิดต่าง ๆ เหมืองแร่หินอุตสาหรรมเป็นที่มาของวัสดุก่อสร้างเหล่านี้  เมื่อการก่อสร้างยังมีความจำเป็น และมีอยู่อย่างต่อเนื่อง การอนุญาตให้ทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดปูนที่จังหวัดยะลาจึงเกิดขึ้น

ห่วงโซ่ซัพพลายอุตสาหกรรมก่อสร้างต้องมีต่อเนื่อง

มติคณะรัฐมนตรีวันที่  22 กันยายน  2563 เรื่อง ขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่ของบริษัท ศิลาอุตสาหกรรม จำกัด ที่จังหวัดยะลา

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ตามคำขอประทานบัตรที่ 6/2558 ของบริษัท ศิลาอุตสาหกรรม จำกัด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2532 และขอผ่อนผันการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 และ 4 ตุลาคม 2559 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ โดยเมื่อหน่วยงานเจ้าของพื้นที่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้ว ให้ อก. โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ดำเนินการให้ครบถ้วนถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

อก. รายงานว่า

1. ประทานบัตรเดิมของบริษัท ศิลาอุตสาหกรรม จำกัด จะครบกำหนดสิ้นอายุในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 บริษัท ศิลาอุตสาหกรรม จำกัด จึงได้ยื่นคำขอประทานบัตรที่ 6/2558 ชนิดแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างที่ตำบลลิดล อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ในพื้นที่ประทานบัตรเดิมเต็มทั้งแปลงและขอขยายพื้นที่ใหม่เพิ่มเติม รวมเนื้อที่ 104 ไร่ 1 งาน 3 ตารางวา มีรายละเอียด ดังนี้

รายการ

รายละเอียด

 

พื้นที่

เนื้อที่

พื้นที่ประทานบัตรเดิมซึ่งมีการทำเหมืองมาก่อนและจะหมดอายุ

69 ไร่ 1 งาน

78 ตารางวา

ขยายพื้นที่เพิ่มเติม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยผ่านการทำเหมืองมาก่อนโดยเคยเป็นพื้นที่ที่ได้รับการอนุญาตจัดตั้งสถานทีเพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เกี่ยวเนื่องกับการทำเหมือง ทั้งนี้ เป็นการขยายพื้นที่เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตแร่

34 ไร่ 3 งาน

25 ตารางวา

 

ลักษณะพื้นที่

1) พื้นที่คำขอประทานบัตรเป็นพื้นที่ป่าซึ่งได้ยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่             ป่าไม้ไว้แล้ว

2) พื้นที่อยู่ในเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 – 2564

3) ไม่อยู่ในแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ ไม่เป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับการทำเหมืองตามระเบียบและกฎหมายของส่วนราชการต่าง ๆ

4) มีสภาพแวดล้อมและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ความคุ้มค่า

โครงการมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคมต่อท้องถิ่นและประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าความเสียหายจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น โดยพบว่า ผลตอบแทนทางการเงินของโครงการอยู่ในระดับที่ดีมาก ซึ่งมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 327.60 ล้านบาท มีมูลค่าโครงการสุทธิภายหลังหักมูลค่าที่สูญไปของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการเท่ากับ 311.96 ล้านบาท

การเห็นชอบ/อนุมัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน

1) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านเหมืองแร่ได้มีมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับคำขอประทานบัตรแล้วเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560

2) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเห็นชอบตามที่ อก. เสนอ

3) องค์การบริหารส่วนตำบลลิดลได้เห็นชอบในการขอประทานบัตรแล้ว

4) สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา ไม่พบร่องรอยหลักฐานที่เป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี อย่างไรก็ตาม หากผู้ขอประทานบัตรมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพื้นที่โดยมีการขุดเจาะลึกลงไปใต้ดินและพบหลักฐานทางโบราณคดีหรือร่องรอยผิดวิสัยและเป็นประโยชน์ในทางโบราณคดี ขอให้ชะลอการดำเนินงานดังกล่าวและโปรดแจ้งข้อมูลให้สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา เพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการตรวจสอบต่อไป

5) การทำเหมืองที่ผ่านมาและการปิดประกาศการขอประทานบัตรไม่มีผู้ร้องเรียนคัดค้าน

6) ไม่มีปัญหาการร้องเรียนคัดค้านเกี่ยวกับคำขอประทานบัตร และการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะหรือสร้างความขัดแย้งกับราษฎรในพื้นที่

 

ทั้งนี้ จากแผนที่ภูมิศาสตร์พบว่า พื้นที่ตามคำขอประทานบัตรที่ 6/2558 ของบริษัท ศิลาอุตสาหกรรม จำกัด ไม่ได้อยู่ในเขตโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา โดยมีพื้นที่ตามคำขอประทานบัตรของห้างหุ้นส่วนจำกัด พีรพลศิลา (ประทานบัตรที่ 2/2558) และคำขอประทานบัตรของห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนบดีศิลา (ประทานบัตรที่ 3/2558) คั่นระหว่างพื้นที่คำขอประทานบัตรของบริษัท ศิลาอุตสาหกรรม จำกัด กับเขตโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 อนุมัติผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่ในพื้นที่ที่คั่นอยู่ดังกล่าวแล้ว

2. การดำเนินการในขั้นตอนนี้ไม่ได้เป็นการพิจารณาอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ แต่เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อขออนุมัติผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

เหมืองแร่ของบริษัท ศิลาอุตสาหกรรม จำกัด ที่จังหวัดยะลา แห่งนี้อยู่ในพื้นที่เกี่ยวข้องกับ องค์การบริหารส่วนตำบลลิดล อำเภอเมือง  จังหวัดยะลา  ทั้งนี้ตำบลลิดล ในสมัยก่อนเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในความปกครองของเจ้าพระยายะลาหรือเจ้าพระยายาลอ ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองยาลอ หรือ ตำบลยะลาในปัจจุบัน

บ้านลิดลเป็นหมู่บ้านที่มีป่าทึบมาก จึงใช้เป็นสถานที่เลี้ยงช้างเพื่อใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ เมื่อคนเลี้ยงช้างนำช้างไปเลี้ยงในหมู่บ้านแห่งนี้ แล้วหันหลังไปมองทางยาลอก็ไม่เห็น เหมือนกับมีอะไรมาปิดบังเอาไว้ ทั้ง ๆ ที่อยู่ใกล้กันมาก ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “ลีดง” แปลว่า บดบัง หมายถึง บ้านที่มีอะไรมาปิดบังเอาไว้ จึงทำให้มองไม่เห็น เพราะมีป่าทึบและภูเขาบังเอาไว้ ชาวบ้านจึงเรียกว่า บ้านลีดง และต่อมาได้เพี้ยนเป็น "ลิดล" จนถึงทุกวันนี้

ตำบลลิดลเป็นตำบลหนึ่งใน 14 ตำบลของอำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ตั้งอยู่ห่างจาก ที่ว่าการอำเภอเมืองยะลา ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 14 กิโลเมตรพื้นที่ทั้งหมดประมาณ  20.02  ตารางกิโลเมตร  หรือประมาณ  12,512.50  ไร่

สภาพพื้นที่ของตำบลลิดลเป็นที่ราบและที่ราบลุ่ม มีภูเขาบางส่วนบริเวณทิศตะวันตกของตำบลในหมู่ที่ 5 เนื่องจากพื้นที่ทั้งตำบลเป็นที่ราบและที่ราบลุ่ม  มีถนนสายสำคัญตัดผ่านในแนวเหนือ - ใต้  ได้แก่  ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข  409  ไปเชื่อมกับทางหลวงจังหวัดหมายเลข  4065  ในตำบลเปาะเส้ง

ตำบลลิดลมี 1,526 ครัว ประชากร 5,957 คน เป็นชาย  2,928  คน เป็นหญิง 3,029 คน ประชากรส่วนใหญ่อาชีพด้านเกษตรกรรมได้แก่ ทำสวนยางพารา  ทำนา  เลี้ยงสัตว์  นอกจากนี้ยังมีอาชีพรับจ้างเป็นบางส่วน รายละเอียดการประกอบอาชีพของประชากรตำบลลิดล   จำแนกตามครัวเรือนทั้งตำบล  มีดังต่อไปนี้

ครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเพียงอย่างเดียวมีประมาณ  74.08%  ของจำนวนครัวเรือนทั้งตำบล  โดยแบ่งออกเป็น

1. อาชีพรับจ้าง  มีประมาณ  1.93%  ได้แก่ งานเหมืองแร่   ประมาณ  0.71%  และรับจ้างกรีดยาง   ประมาณ  1.22%

2. อาชีพเกษตรกรรม   มีประมาณ  72.15%   ได้แก่ ทำนา  ประมาณ  15.74% ทำสวนยางพารา, ลองกอง , ทุเรียน , มะพร้าว  ประมาณ  22.11%  และ เลี้ยงสัตว์  โค , กระบือ , สุกร , เป็ด , ไก่  ประมาณ  31.51%

ครัวเรือนที่ประกอบอาชีพมากกว่า  1  อาชีพขึ้นไป  มีประมาณ  25.92%  ของจำนวนครัวเรือนทั้งตำบล  โดยแบ่งออกเป็น

1. รับจ้าง  และเกษตรกรรม  มีประมาณ  24.35%

2. รับจ้าง  และค้าขาย  มีประมาณ  0.71%

3. รับจ้างและประกอบอุตสาหกรรม  มีประมาณ  0.28%

4. เกษตรกรรมและค้าขาย   มีประมาณ  0.39%

#