ความคืบหน้าโครงการทางพิเศษกระทู้-ป่าตอง
  • 5 พฤศจิกายน 2020 at 17:26
  • 3027
  • 0

ความคืบหน้าของโครงการทางพิเศษกระทู้-ป่าตองติดตามได้จากมติคณะรัฐมนตรีวันที่  3 พฤศจิกายน 2563  เรื่อง ผลการดำเนินงานโครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

 

แนวสายทาง-การก่อสร้างทางยกระดับและอุโมงค์

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการดำเนินงานโครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ดังนี้

สาระสำคัญและข้อเท็จจริง

การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้จัดทำรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต โดยมีสาระสำคัญของโครงการ ความคืบหน้า และแผนการดำเนินโครงการสรุปได้ ดังนี้

1. สาระสำคัญของโครงการ

1.1 แนวสายทางโครงการ

โครงการก่อสร้างเป็นทางยกระดับ มีอุโมงค์อยู่ในช่วงกลางของแนวสายทาง ระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับถนนพระเมตตา ในพื้นที่ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ เป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง (สำหรับรถยนต์ 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง และรถจักรยานยนต์ 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง) ยกระดับข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์ จนถึงเขานาคเกิด ระยะทาง 0.9 กิโลเมตร แล้วจึงเป็นอุโมงค์ลอดเขานาคเกิด ระยะทาง 1.85 กิโลเมตร หลังจากผ่านช่วงภูเขาจึงเป็นทางยกระดับ ระยะทาง 1.23 กิโลเมตร จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการในพื้นที่ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ บริเวณจุดตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029

1.2 รูปแบบโครงการ

1) รูปแบบโครงสร้างทางยกระดับ

โครงสร้างทางยกระดับสายทางหลักเป็นคานคอนกรีตอัดแรงรูปตัว I(I - Beam Girder) ขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง แบ่งเป็นรถยนต์ 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง กว้างช่องละ 3.50 เมตรมีไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง 2.00 เมตร ไหล่ทางด้านขวากว้าง 0.50 เมตร และรถจักรยานยนต์ 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง กว้างช่องละ 1.75 เมตร มีไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง 1.00 เมตร ไหล่ทางด้านขวากว้าง 0.50 เมตร มีการติดตั้งราวกันชนคอนกรีต (Concrete Barrier) แบ่งแยกรถจักรยานยนต์และรถยนต์ออกจากกันเพื่อความปลอดภัย

2) รูปแบบโครงสร้างอุโมงค์

โครงสร้างเป็นอุโมงค์คู่ ห่างกันประมาณ 25 เมตร โดยแต่ละอุโมงค์มีความกว้างภายในรวม 17.10 เมตร และมีขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง แบ่งเป็นรถยนต์ 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง กว้างช่องละ 3.50 เมตร มีไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง 2.00 เมตร ไหล่ทางด้านขวากว้าง 0.50 เมตร และรถจักรยานยนต์  2 ช่องจราจรต่อทิศทาง กว้างช่องละ 1.75 เมตร มีไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง 1.00 เมตร ไหล่ทางด้านขวากว้าง  0.50 เมตร มีการติดตั้งราวกันชนคอนกรีต แบ่งแยกรถจักรยานยนต์และรถยนต์ออกจากกันเพื่อความปลอดภัย มีทางเท้าข้างอุโมงค์กว้างข้างละ 1.00 เมตร เพื่อการซ่อมบำรุงและใช้กรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้ ภายในอุโมงค์จะมีระบบต่าง ๆ ที่จำเป็น ได้แก่ ระบบระบายอากาศ ระบบตรวจวัดปริมาณมลสาร CO NO2 ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบกระจายเสียง ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบป้ายสัญญาณจราจรและป้ายข้อความ ระบบระบายน้ำ  เป็นต้น

3) ด่านเก็บค่าผ่านทางและศูนย์ควบคุมทางพิเศษ

ด่านเก็บค่าผ่านทางตั้งอยู่บริเวณด้านกะทู้ จำนวน 1 ด่าน เก็บค่าผ่านทางทั้ง 2 ทิศทาง คือ ทิศทางกะทู้ - ป่าตอง และทิศทางป่าตอง - กะทู้ ประกอบด้วย ช่องเก็บค่าผ่านทางทิศทางละ  9 ช่องทาง จำแนกเป็น รถจักรยานยนต์ จำนวน 3 ช่องทาง (6 ตู้) รถยนต์ จำนวน 5 ช่องทาง และรถบรรทุก จำนวน 1 ช่องทาง โดยมีพื้นที่เผื่อไว้สำหรับจัดทำช่องเก็บค่าผ่านทางในอนาคตด้านละ 1 ช่องทาง

 

มูลค่าการลงทุนและผลตอบแทน

1.3 มูลค่าลงทุนโครงการ

โครงการมีมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้นจำนวน 14,177.22 ล้านบาท จำแนกเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 5,792.24 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง (รวมค่าควบคุมงาน) จำนวน 8,384.98 ล้านบาท ดังนี้

รายการ

มูลค่าโครงการ (ล้านบาท)

1.             ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน

 

                1.1 ค่าเวนคืนที่ดิน

4,781.04

                1.2 ค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้าง

1,011.20

                รวม (1.1+1.2)

5,792.24

2.             ค่าก่อสร้าง (รวมค่าควบคุมงาน)

8,384.98

รวมทั้งหมด

14,177.22

หมายเหตุ : ราคาประเมิน ณ ปี 2561 (ค่าควบคุมงาน 203.74 ล้านบาท)

1.4 การจัดเก็บค่าผ่านทาง

ระบบเก็บค่าผ่านทางที่เหมาะสมของโครงการเป็นแบบระบบเปิด (Open System) เก็บค่าผ่านทางอัตราเดียว (Flat Rate) โดยในปีเปิดให้บริการจัดเก็บค่าผ่านทางในอัตรา 15/40/85/125 บาทต่อคัน สำหรับรถจักรยานยนต์/รถ 4 ล้อ/รถ 6 - 10 ล้อ/รถมากกว่า 10 ล้อ

1.5 การคาดการณ์ปริมาณจราจร

จากผลการคาดการณ์ปริมาณจราจร พบว่า ในปีเปิดให้บริการคาดว่าจะมีปริมาณจราจรใช้ทางพิเศษ จำนวน 71,050 คัน/วัน แบ่งเป็น รถจักรยานยนต์ 35,261 คัน/วัน รถ 4 ล้อ 34,225 คัน/วัน                 รถ 6 - 10 ล้อ 1,548 คัน/วัน และรถมากกว่า 10 ล้อ 16 คัน/วัน

1.6 ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ

 

ดัชนีชี้วัด

ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ

อัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) (%)

20.44

มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) (ล้านบาท)

12,896.29

อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อทุน (B/C Ratio) (เท่า)

1.32

ระยะเวลาคืนทุน (Payback Period) (ปี)

8

หมายเหตุ : อัตราคิดลด (Discount Rate) เท่ากับ ร้อยละ 12

1.7 ผลตอบแทนด้านการเงิน

ผลตอบแทนด้านการเงินกรณีเอกชนร่วมลงทุน โดยรัฐอุดหนุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมด เอกชนรับภาระค่าก่อสร้างและควบคุมงานทั้งหมด ดังนี้

 

ดัชนีชี้วัด

ผลตอบแทนด้านการเงิน

อัตราผลตอบแทนด้านการเงิน (FIRR) (%)

8.94

มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) (ล้านบาท)

264.58

อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อทุน (B/C Ratio)

1.02

ระยะเวลาคืนทุน (Payback Period) (ปี)

24

หมายเหตุ : อัตราคิดลด (Discount Rate) เท่ากับ ร้อยละ 8.25

 

2.  ความคืบหน้าของโครงการ

การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้จัดส่งรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจได้เชิญประชุมหารือเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 และ 17 เมษายน 2562 โดยขอให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเร่งดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ให้มีความชัดเจน เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนในการนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการของโครงการต่อไป ซึ่งโครงการดังกล่าวจะต้องดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่ของกรมป่าไม้ จำนวน 3 ป่า ได้แก่ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิด เนื้อที่ 60 ไร่ 89 ตารางวา พื้นที่ป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี เนื้อที่ 21 ไร่ 1 งาน 63 ตารางวา และพื้นที่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 เนื้อที่ 27 ไร่ 2 งาน 95 ตารางว

ทั้งนี้ คาดว่าจะดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่ทั้งหมดแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2563 อย่างไรก็ตาม การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้รายงานความคืบหน้าให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจทราบในเบื้องต้นแล้ว

3.แผนการดำเนินโครงการ

 

ขั้นตอนการดำเนินงาน

ระยะเวลา

- การทางพิเศษแห่งประเทศไทยขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้

พฤษภาคม 2562 - ธันวาคม 2563

- กรมป่าไม้เห็นชอบการขออนุญาตใช้พื้นที่

30 ธันวาคม 2563

- การทางพิเศษแห่งประเทศไทยชี้แจง/ให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

กันยายน 2563 - มกราคม 2564

- สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนพิจารณา และคณะกรรมการนโยบายฯ นำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการให้ดำเนินโครงการ และร่างพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน

กุมภาพันธ์ 2564 - พฤษภาคม 2564

- ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน เพื่อจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน

มิถุนายน 2564 - พฤศจิกายน 2564

- จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน

ธันวาคม 2564 - พฤศจิกายน 2566

- คัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการ

มิถุนายน 2564 - มกราคม 2566

- ก่อสร้างโครงการ

กุมภาพันธ์ 2566 - มกราคม 2570

- เปิดให้บริการ

กุมภาพันธ์ 2570

 

4. ความเห็นของกระทรวงคมนาคม

โครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต เป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยทำให้เกิดการเชื่อมโยงการเดินทางจากอำเภอกะทู้ไปยังหาดป่าตองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต สามารถบรรเทาปัญหาการจราจรบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 และใช้เป็นเส้นทางเลือกในการอพยพในกรณีเกิดภัยพิบัติ ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะได้เร่งรัดการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงานต่อไป

#