แนวโน้มของวิศวกรรมเครื่องกลในอนาคตจะเป็นอย่างไรเมื่อวิกฤติไวรัส COVID-19 และดิจิทัลเทคโนโลยี เปลี่ยนโลกวิถีชีวิตและวิศวกรรมเทคโนโลยี โดยเฉพาะวิศวกรรมเครื่องกล ซึ่งเป็นแนวหน้าของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสายการผลิต เครื่องจักร เครื่องยนต์ทุกชนิด ทั้งบนบก น้ำ และอากาศ ตั้งแต่ยานยนต์ เรือ โดรน เครื่องบิน จนถึงดาวเทียมนั้น เผชิญกับการเปลี่ยนผ่านในวิถีใหม่ New Normal คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สมาคมวิศวกรเครื่องกลไทย เปิดเวทีและชวนมาหาคำตอบ โดยกำหนดจัด งานประชุมวิชาการเครือข่ายวิศวกรรมเครื่องกลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 34 (ME-NETT2020) 15 - 17 กค. 2563 นี้ ณ วรวนา หัวหิน โฮเต็ลแอนด์คอนเวนชั่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

 

           

ผศ.ดร.สราวุธ เวชกิจ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 ทำให้นานาประเทศและประเทศไทยตระหนักถึงการพึ่งพาตนเองให้ได้ โดยทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันสนับสนุน ส่งเสริม ผลักดันคนที่มีฝีมือให้สามารถพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรม-เครื่องกลต่างๆ ขึ้นมาได้ และหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีในประเทศ ต่อไปคำว่า Made in…. จะเป็นกระแสหลักในอนาคต มุ่งการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง คิดเอง ใช้เอง ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากประเทศอื่น ๆ ประเทศไทยเรามีจุดมุ่งหมายที่จะเป็น Innovation Nation หรือ Made in Thailand ดังนั้นคน นวัตกรรม และเทคโนโลยี จะต้องทำงานร่วมกันและพัฒนาให้สัมพันธ์กันเหมือนดังวงออร์เครสตร้า ตั้งแต่การออกแบบ การใช้พหุศาสตร์ วิเคราะห์ทดสอบ การผลิตและควบคุมคุณภาพ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและคุณภาพอย่างยั่งยืน เช่น การนำระบบอัตโนมัติ และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่างเหมาะสมเปรียบเสมือนผู้ช่วยวิศวกรแบ่งเบาภาระงานหนัก อันตรายหรือต้องการความแม่นยำสูง มาใช้ในโรงงานหรือในไลน์การผลิต ช่วยประหยัดต้นทุน ประหยัดเวลา เพิ่มผลิตภาพ ความปลอดภัย แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ลดการนำเข้า ลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

            รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ ประธานคณะกรรมการจัดงานฯ และรองคณบดีฝ่ายพัฒนาบุคลากรและสื่อสารองค์กร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดงานประชุมวิชาการเครือข่ายวิศวกรรมเครื่องกลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 34 (ME-NETT2020) ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Innovation for Sustainability) เพื่อเปิดเวทีระดมความคิดเห็นจากวิศวกร นักวิชาการ นักวิจัย สตาร์ทอัพและนิสิตนักศึกษา ได้นำเสนอผลงานทางวิชาการ และแสดงความคิดเห็นไอเดียสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรม รวมถึงการบูรณาการพหุศาสตร์ในนวัตกรรม เพื่อการสร้างความยั่งยืนในทุกด้าน รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ด้านวิชาการและวิจัย

ภายในงานมี การบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “การพึ่งพาเทคโนโลยีและศักยภาพภายในประเทศเพื่อการสร้างนวัตกรรม สู่อนาคตแห่งความยั่งยืน” โดย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “เดินหน้าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน...ประจวบคีรีขันธ์โมเดล” โดย นายภิรมย์ นิลทยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมเปิดเวทีเสวนา หัวข้อ “ก้าวใหม่วิศวกรรมเครื่องกล...ในวิถีนิวนอร์มอล” (ME New Normal) โดย ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช นายกวิศวกรเครื่องกลไทยศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลผศ.ดร.ชลธิศ เอี่ยมวรวุฒิกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

ไฮไลท์ของงาน มีการสัมมนาในหลากหลายหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ หัวข้อเทคโนโลยีการออกแบบและการผลิตในยุคอุตสาหกรรม 4.0การควบคุมทิศทางการไหลของอากาศในสถานพยาบาลการเรียนการสอนในระบบออนไลน์การใช้โปรแกรม CFD Simulation สำหรับเทคโนโลยี Additive Manufacturing, CAE Co-Simulation: Where Multiphysics Gets Real, คอร์สออนไลน์: ทางเลือกสำหรับการ Up-Skill และ Re-Skill, การวิเคราะห์สมบัติทางความร้อนกับงานด้านวิศวกรรมทุนกับทิศทางงานวิจัยทางวิศวกรรมเครื่องกลและการมีส่วนร่วมของชุมชน

การประชุมครั้งนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากงานวิจัยด้านวิศวกรรมเครื่องกล รวม 9 สาขา ดังต่อไปนี้ 1. พลังงานทางเลือก (Alternative Energy and Combustion - AEC) 2. วิศวกรรมยานยนต์ยานบินและเรือทะเล (Automotive, Aerospace  and Marine Engineering - AME) 3.เครื่องกลประยุกต์วัสดุและการผลิต (Applied Mechanics, Materials and Manufacturing - AMM) 4. วิศวกรรมชีวกลและวิศวกรรมชีวการแพทย์ (BioMechanics and BioEngineering - BME) 5. เทคนิคด้านคอมพิวเตอร์และการจำลองแบบ (Computation and Simulation Techniques - CST) 6. ระบบพลศาสตร์และการควบคุม (Dynamic Systems, and Controls - DRC) 7. เทคโนโลยีพลังงานและบริหารจัดการ (Energy Technology and Management - ETM) 8. ระบบความร้อนและการไหล (Thermal System and Fluid Mechanic - TSF) 9. การศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ (Engineering Education - EDU) โดยพบกับ 130 ผลงานวิจัยเด่น องค์ความรู้ไร้ขีดจำกัด อาทิ การศึกษามุมแขนบังคับเลี้ยวที่เหมาะสมในรถหัวหุ่นยนต์ขยับรูปปากตามเสียงภาษาไทยได้เหมือนจริงการพัฒนากระบวนการต้มเกลือ โดยการอุ่นน้ำเกลือด้วยความร้อนทิ้งการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์แบบแปรสภาพเป็นแก๊สชีวมวลเพื่อชุมชนการพัฒนาและหาประสิทธิภาพของชุดฝึกระบบการควบคุมอัตโนมัติด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์ เป็นต้น

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าที่ http://www.tsme.org/me-nett/me-nett2020/registration/ โดยเข้าร่วมงานแบบ On Ground วันที่ 15 -17 กรกฎาคม 2563 ณ วรวนา หัวหิน โฮเต็ลแอนด์คอนเวนชั่น อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หรือจะเข้าฟังทาง Online ก็ได้