ไทยเบเวอร์เรจ แคน ผนึกพลัง วิศวะมหิดล ประเมินวัฏจักรชีวิตบรรจุภัณฑ์กระป๋องอะลูมิเนียม

...รุกสร้างนวัตกรรมรีไซเคิลและมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย

 

 

 

            บริษัท ไทยเบเวอร์เรจ แคน จำกัด หรือ ทีบีซี ในกลุ่มบริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด(มหาชน) และบริษัท บอลล์ คอร์ปอเรชั่น สหรัฐอเมริกา ก้าวเป็นผู้นำตลาดกระป๋องอะลูมิเนียมรายใหญ่ของไทยและอาเซียน คาดยอดขายปีนี้ 9,000 ล้านบาท เดินหน้ารุกตลาดอนาคตเพื่อความยั่งยืน ชูกลยุทธ์โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนในการดำเนินงานธุรกิจในชีวิตวิถีใหม่  ผนึกพลังลงนามความร่วมมือ(MOU) กับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในโครงการประเมินวัฏจักรชีวิต บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มประเภทกระป๋องอะลูมิเนียมและบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม อีก ประเภทในประเทศไทย ได้แก่ ขวดพลาสติกประเภท PET, ขวดแก้ว และกล่องเครื่องดื่ม มุ่งเป้าตอบโจทย์การพัฒนายกระดับมาตรฐานบรรจุภัณฑ์กระป๋องเครื่องดื่มไทยให้ยั่งยืนครบวงจร ทั้งด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์  ซัพพลายเชน สังคมและสิ่งแวดล้อมโลก

 

 

นายสาโรช ชยาวิวัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบเวอร์เรจ แคน จำกัด (ทีบีซี) กล่าวว่า บริษัท ไทยเบเวอร์เรจ แคน จำกัด หรือ ทีบีซี ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 โดยมีผลการดำเนินงานที่เติบโตขึ้นในทุกๆ ปี สามารถสร้างงานสร้างรายได้แก่ประเทศในปี 2562 มูลค่ากว่า 9,000 ล้านบาท คาดว่ายอดขายในปี 2563 คงจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาเนื่องด้วยสถานะการณ์โควิด-19  บริษัทฯให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ, การวิจัยพัฒนาที่เข้มแข็ง, การสร้างนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของตลาดอย่างต่อเนื่อง, การใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและการใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า โดยมีแนวทางภายใต้กรอบดำเนินงานด้านความยั่งยืน (SDG : Sustainability Development Goal) ทีบีซี มุ่งมั่นที่จะเป็นต้นแบบและผู้นำด้านความยั่งยืนในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และได้เริ่มใช้กลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการดำเนินงานและบริหารจัดการ เช่น Circular Supply Chain เลือกใช้คู่ค้าที่มีสัดส่วนการใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิลในอัตราที่สูง ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการจัดเก็บกระป๋องอะลูมิเนียมที่ใช้แล้วในตลาดให้กลับมาเป็นวัตถุดิบอีกครั้ง ลดโอกาสที่วัสดุจะถูกนำไปฝังกลบ เรียกว่า Close Loop Packaging และยังช่วยภาคสังคมในการสร้างรายได้ให้กับอาชีพรับซื้อขยะรีไซเคิล  เป็นต้น 

โดยการทำ Close Loop Packaging หรือ Circular Economy ต้องมีมุมมองให้ครบ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่าง เช่น ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม  โลกเราในตอนนี้กำลังเผชิญปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ มากจนเกินสมดุล ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และอาจเกิดผลกระทบตามมาอย่างรุนแรง  ดังนั้น ทีบีซี จึงได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเริ่มดำเนินโครงการแรกคือ การศึกษาวิจัยการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของวัฏจักรชีวิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม ได้แก่ กระป๋องอลูมิเนียม, ขวดพลาสติกประเภท PET, ขวดแก้ว และกล่องเครื่องดื่ม โดยศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบตลอดวัฏจักรชีวิตบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่กระบวนการได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การขึ้นรูปจนได้เป็นผลิตภัณฑ์ การส่งต่อให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภคนำผลิตภัณฑ์ไปใช้งาน จนกระทั่งการจัดการซากบรรจุภัณฑ์ และการหาข้อมูลรีไซเคิลในประเทศไทย ทั้งนี้จะนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ ต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และมาตรฐานในวงการอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระป๋องอะลูมิเนียมของไทยต่อไป

 

 

            รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการทิ้งขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมทางทะเลสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก ขยะเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ข้อมูลจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในสถานการณ์ปกติ ขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ปีละกว่า 28.71 ล้านตัน จากการที่คนหนึ่งคนสร้างขยะวันละ 1.13 กิโลกรัม ในนั้นประมาณ 12 -13% เป็นขยะพลาสติก ยกเว้นในเขตกรุงเทพมหานครที่มีปริมาณขยะพลาสติก ประมาณ 20% หรือ 2,000 ตันต่อวัน จากปริมาณขยะรวมของกรุงเทพฯ 10,560 ตันต่อวัน จิตสำนึกและการลงมือทำจากทุกภาคส่วนทั้งซัพพลายเชน ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ ผู้ใช้ และการบริหารจัดการขยะ จึงจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นความยินดีของสังคมไทยที่ได้เห็นภาคเอกชนที่มีความตื่นตัวและทุ่มเทในการแสวงหาข้อมูลและวิธีการประเมินวัฏจักรวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ เพื่อการมีส่วนร่วมในการทำธุรกิจและบริหารจัดการที่ยั่งยืนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลกของเราให้มากขึ้นและตรงเป้ายิ่งขึ้น  อีกทั้งสะท้อนคุณค่าความใส่ใจต่อผู้บริโภคและความรับผิดชอบต่อสังคมไทยและลดขยะในสิ่งแวดล้อมโลก  วัตถุประสงค์ของ MOU เพื่อให้เกิดการพัฒนางานวิจัยด้านวิศวกรรมบูรณาการ และการประเมินความยั่งยืนตลอดวัฏจักรชีวิตของบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอลูมิเนียมและบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มในประเทศไทย ร่วมกันส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้และทักษะในด้านวิศวกรรมบูรณาการ และผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม สังคมและสิ่งแวดล้อมต่อไป

 

รศ.ดร.ตระการ ประภัสพงษา หัวหน้าโครงการและอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การศึกษาวิจัยมุ่งเป้าหมาย ดังนี้ 1. ศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่เกิดจนตายและการนำกลับไปใช้ใหม่ (Cradle to Cradle) ของกระบวนการผลิตของกระป๋องอลูมิเนียมและบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มประเภท ขวดพลาสติก PET, ขวดแก้ว และกล่องเครื่องดื่ม เช่น ศักยภาพที่ทำให้เกิดโลกร้อน (Global Warming Potential) การทำให้เกิดภาวะฝนกรด (Acidification) ความเป็นพิษต่อมนุษย์ (Human Toxicology) การทำลายโอโซน (Ozone Depletion) การเก็บข้อมูลไฟฟ้า ในช่วงการแช่สินค้าที่บรรจุภัณฑ์แตกต่างกัน บรรจุภัณฑ์ไหนใช้เวลาน้อยที่สุด เมื่อแช่บรรจุภัณฑ์ให้ถึงอุณหภูมิที่เป้าหมาย และอื่นๆ เป็นต้น

           2. ศึกษาปัจจัยความแตกต่างของการใช้ทรัพยากร พลังงาน และการเกิดของเสีย ของการใช้แต่ละบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างกัน และ 3. ศึกษาอัตราการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์กระป๋องอะลูมิเนียมและบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มอีกสามประเภทในประเทศไทย และการส่งผลของอัตราการรีไซเคิลที่มีต่อการเกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของกระป๋องอะลูมิเนียม, ขวดพลาสติก PET, ขวดแก้ว และกล่องเครื่องดื่ม

 

 

 

 

ประโยชน์จากโครงการ ครั้งนี้ 1. ด้านผลิตภัณฑ์ ใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนา ออกแบบบรรจุภัณฑ์และเลือกใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมมากที่สุด และทราบถึงข้อที่ควรต้องปรับปรุง และข้อส่งเสริมของแต่ละบรรจุภัณฑ์ 2. ด้านวงการอุตสาหกรรมและซัพพลายเชน เป็นข้อมูลนำไปสู่การขับเคลื่อนอย่างมีพลังและผลักดันให้เกิดความร่วมมือรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเป็นรูปธรรม มีมาตรฐานและประสิทธิภาพในรูปของเศรษฐกิจหมุนเวียน 3. ด้านสังคมไทย เสริมสร้างการจ้างงานในอุตสาหกรรมรีไซเคิล สร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภค ในการช่วยกันเพิ่มการจัดเก็บผลิตภัณฑ์ 4. ด้านสิ่งแวดล้อมโลก นำมาซึ่งการมีส่วนร่วมในปฏิบัติการจริง (Action) เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมที่กำลังเป็นปัญหาคุกคามนานาประเทศ